คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่1จำเลยที่1และจ.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันมิได้บรรยายส่วนสัดไว้แต่ต้นว่าแต่ละคนมีส่วนถือกรรมสิทธิ์แตกต่างกันมาเช่นนี้มาตลอดนับแต่ซื้อมาจนกระทั่งมีการจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่2นับรวมได้เป็นเวลา20ปีเศษแสดงว่าเจ้าของรวมแต่ละคนไม่ติดใจในส่วนสัดของที่ดินพิพาทที่ปรากฎทางทะเบียนโฉนดที่ดินแต่อย่างใดจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา1357แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน จำเลยที่1รู้ว่าโจทก์ที่1ซึ่งเป็นมารดายังมีชีวิตและมีที่อยู่แน่นอนมาแต่ต้นดังนั้นการที่จำเลยที่1ไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่1เป็นคนสาบสูญและตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตลอดจนไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่1ให้แก่จำเลยที่2จึงเป็นการที่ทำไปโดยไม่สุจริตแม้จำเลยที่2จะรับซื้อไว้โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตก็ตามก็หาทำให้จำเลยที่2ได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่1ไม่เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนจำเลยที่2ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2510 โจทก์ที่ 1 กับนายศิริ จันทร์หอมสามีได้ร่วมกันออกเงินคนละครึ่งซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12415มาแบ่งปันกัน ที่ดินส่วนของนายศิริยกให้แก่บุตร 3 คน คือนายจำรัส จันทร์หอม จำเลยที่ 1 และ โจทก์ที่ 2 คนละ 2 ไร่แต่เนื่องจากในวันจดทะเบียนซื้อขายโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินด้วยจึงจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1นายจำรัสและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเพียง3 คน โดยมิได้บรรยายส่วนไว้ ต่อมาเมื่อต้นปี 2531 จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำร้องเท็จต่อศาลว่า โจทก์ที่ 1 ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาตั้งแต่ปลายปี 2522 จนถึงต้นปี 2531 โดยไม่ได้ข่าวคราวแต่อย่างใด ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญศาลได้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญแล้วจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้แต่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งศาลได้ตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้สมคบกับนายจำรัสและจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12415ของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12415 ตำบลลำตาเสา (บ่อตาโล่) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 666.66 บาท กับค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 666.66บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและส่งมอบโฉนดที่ดินคืน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทร่วมกับนายศิริคนละครึ่ง ความจริงจำเลยที่ 1กับนายจำรัสและโจทก์ที่ 1 ได้ร่วมหุ้นกันซื้อเพียง 3 คนโจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินและมิได้มีส่วนในที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อนายศิริถึงแก่กรรมนั้นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ร้องขอให้ศาลตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิริตามคำร้องขอดังกล่าวมิได้ระบุว่านายศิริมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทนี้อยู่ด้วยและโจทก์ทั้งสองก็มิได้จัดการแบ่งมรดกให้เป็นของโจทก์ทั้งสองเสียตามที่อ้างทั้ง ๆ ที่สามารถจะกระทำได้ จึงเป็นข้อสนับสนุนว่านายศิริมิได้ร่วมซื้อที่ดินพิพาทดังโจทก์อ้าง ส่วนในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญและตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยสุจริต และไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านศาลจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญและตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 คำสั่งศาลทั้งสองฉบับ จึงชอบแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งได้กระทำไปโดยสุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2กระทำการโดยไม่สุจริตและสุจริตในเวลาเดียวกัน โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้องเพราะที่ดินพิพาทนี้จำเลยที่ 1 ได้ให้บุคคลอื่นทำนาโดยไม่คิดค่าเช่าตลอดมาจนกระทั่งโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีกทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้อนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12415 ตำบลลำตาเสา (บ่อตาโล่)อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่12 ไร่ มีชื่อโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และนายจำรัส จันทร์หอมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2510 ประมาณต้นปี 2531 ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญและตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายจำรัสได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 เป็นคนสาบสูญและคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวเห็นควรวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นลำดับแรกว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสองเบิกความเป็นพยานว่า เดิมโจทก์ที่ 1ร่วมกับนายศิริ จันทร์หอม สามีซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่ 12 ไร่โดยออกเงินคนละครึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงมีส่วนเป็นเจ้าของ 6 ไร่ที่เหลืออีก 6 ไร่ นายศิริยกให้บุตร 3 คน คือนายจำรัส จันทร์หอมจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่เนื่องจากในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น โจทก์ที่ 2 ติดคลอดบุตรจึงมิได้เข้าชื่อในทะเบียนโฉนดที่ดิน เห็นว่า การจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1จำเลยที่ 1 และนายจำรัสเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็มิได้บรรยายส่วนสัดไว้แต่ต้นว่าแต่ละคนมีส่วนถือกรรมสิทธิ์แตกต่างกันเป็นเช่นนี้มาตลอดนับแต่ซื้อมาจนกระทั่งมีการจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 นับรวมได้เป็นเวลา 20 ปีเศษ แสดงว่าเจ้าของรวมแต่ละคนไม่ติดใจในส่วนสัดของที่ดินพิพาท ที่ปรากฎทางทะเบียนโฉนดที่ดินแต่อย่างใด จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลเบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ดังกล่าวไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติข้างต้นได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีส่วนในที่ดินพิพาทเพียง 4 ไร่ ส่วนโจทก์ที่ 2ไม่มีส่วนในที่ดินพิพาทเลย โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อต่อไปว่าการโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ระหว่างจำเลยทั้งสองได้ทำไปโดยสุจริตหรือไม่ และปัญหาค่าเสียหายจะได้วินิจฉัยไปด้วยกัน และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1รู้แน่ว่าโจทก์ที่ 1 ยังมีชีวิตและมีที่อยู่แน่นอนมาแต่ต้นการที่จำเลยที่ 1 ไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1เป็นคนสาบสูญและตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก ตลอดจนไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2จึงเป็นการที่ทำไปโดยไม่สุจริต และไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อไว้โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสุทธิโดยสุจริตก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ไม่ เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ ส่วนปัญหาค่าเสียหายนั้น ปรากฎว่าจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียวได้ทำไปโดยไม่สุจริต เป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์นำสืบว่า ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไร่ละ 600 บาท ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 หาได้นำสืบหักล้างว่าค่าเช่านาที่เรียกเก็บในท้องที่เดียวกันนั้นควรเป็นจำนวนเท่าใด จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เทียบเท่ากับค่าเช่าไร่ละ 500 บาท ต่อปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12415 ตำบลลำตาเสา (บ่อตาโล่) อำเภอวังน้อย(พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นเนื้อที่ 4 ไร่ โดยให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ปีละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2531 เป็นต้นไปจนถึงวันอ่านคำพิพากษานี้ คำขอนอกจากนี้ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share