แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงานฯ จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต้องยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จถึงแก่ความตายหรือนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งให้ออกจากงานแล้วแต่กรณีก็ตาม แต่สิทธิเรียกเงินบำเหน็จนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ภายใน 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จให้น้อยกว่า 10 ปี หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 193/11 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี จำเลยจะยกข้อบังคับของจำเลยข้างต้นขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จหาได้ไม่ แต่การที่โจทก์อนุญาตให้รถร่วมทำการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย เป็นการจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยโดยชัดแจ้ง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเมื่อโจทก์เก็บเงินค่าจ้างขนส่งจากผู้ว่าจ้างได้แล้วไม่นำฝากเข้าบัญชีของจำเลยกลับนำเงินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีภริยาของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ว่า พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพหรือบำเหน็จถ้าถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง ข้อบังคับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้และเป็นเงื่อนไขที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงชอบด้วยกฎหมายมีผลผูกพันจำเลยกับพนักงานของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการอำนวยบริการต่อรัฐและประชาชนในการขนส่งทุกชนิด เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ มีนายโกวิท ธัญญรัตตกุล เป็นผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งผู้จัดการเขต ร.ส.พ. ประจำเขตหาดใหญ่ มีหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับเกี่ยวกับการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทุกชนิดในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานหมดความไว้วางใจ โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบของจำเลย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต และไม่เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าจ้าง ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินบำเหน็จและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยของเงินที่เรียกร้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,786,220.86 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม และชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นเงิน 5,000,000 บาท หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ให้จำเลยชำระเงิน 7,786,220.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,737,359.33 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งผู้จัดการประจำสถานี ร.ส.พ. จังหวัดพัทลุง ค่าล่วงเวลาตามฟ้องจำเลยไม่ได้จ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนและจ่ายเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ค่าล่วงเวลาตามฟ้องจึงไม่เป็นความจริง โจทก์จัดหารถยนต์ของบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมทำการขนส่งสินค้าให้แก่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพัทลุง โดยไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลย เมื่อได้รับเงินค่าขนส่งจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 แล้วไม่นำส่งให้แก่จำเลยตามระเบียบแต่กลับนำเข้าฝากในบัญชีของภริยาโจทก์ เมื่อจำเลยตรวจพบโจทก์จึงนำส่งคืนจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดด้วยรถยนต์ร่วมบริการ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจากการได้รับเงินค่าขนส่งล่าช้าคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 102,081.43 บาท คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างค้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายตามฟ้อง โจทก์ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิยื่นขอรับบำเหน็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งให้ออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 102,081.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เนื่องจากการขนส่งเมล็ดพันธุ์พืชในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนดำเนินการว่าจ้างรถร่วมขนส่งเมล็ดพันธุ์พืชให้แก่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพัทลุงนั้น โจทก์ได้รับอนุมัติด้วยวาจาจากนายสมบัติ อมรศักดิ์ ผู้จัดการ ร.ส.พ. ประจำเขตหาดใหญ่ ให้ทำการขนส่งไปก่อนได้โดยให้ทำเรื่องขออนุมัติจากจำเลยตามระเบียบภายหลัง โจทก์ได้นำส่งค่าจ้างขนส่งให้แก่จำเลยจำนวนร้อยละ 17 แล้ว แต่จำเลยต้องการให้ส่งเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 โจทก์จึงได้นำเงินส่วนตัวจัดส่งให้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ ผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นได้แก่นายมานพ อาวุชานนท์ มีคำสั่งลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 2 ขั้น และให้โจทก์ชดใช้ดอกเบี้ยจำนวน 102,081.43 บาท แต่ต่อมาจำเลยกลับมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหมดความไว้วางใจ โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำสั่ง ผลปรากฏว่าคณะกรรมการจำเลยยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งเลิกจ้างจึงไม่ชอบและถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง เหตุที่โจทก์จัดส่งเงินค่าว่าจ้างขนส่งร้อยละ 17 ให้แก่จำเลยล่าช้า เนื่องจากโจทก์ประสงค์จะรอเรื่องอนุมัติเป็นหนังสือจากจำเลยก่อน มิได้มีเจตนาทุจริต ส่วนเงินที่นำส่งเพิ่มอัตราร้อยละ 3 มิใช่เงินของจำเลยแต่เป็นเงินของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าว คำฟ้องแย้งไม่ได้บรรยายว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยจากค่าว่าจ้างขนส่งครั้งใด คำนวณเป็นระยะเวลาในการคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาเท่าใด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินค่าจ้างค้างจำนวน 19,376 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 102,081.43 บาท แก่จำเลยคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดด้วยรถยนต์ร่วมกิจการ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจากการได้รับเงินค่าขนส่งล่าช้าคิดเป็นเงิน 102,081.43 บาท และศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย ในเรื่องนี้โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.5 ว่า จำเลยนำเงินค่าขนส่งตามเอกสารหมาย ล.16 ทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าต้นเงินที่แท้จริง โจทก์ไม่ต้องชดใช้ดอกเบี้ยเต็มจำนวนตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมีผลเท่ากับโจทก์อ้างว่าจำเลยได้รับความเสียหายน้อยกว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังมา จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 ตามเอกสารหมาย ล.31 ข้อ 28 จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต้องยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จถึงแก่ความตายหรือนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งให้ออกจากงานแล้วแต่กรณีก็ตาม แต่สิทธิเรียกเก็บเงินบำเหน็จนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยจะกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จให้น้อยกว่า 10 ปี หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 193/11 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี จำเลยจะยกข้อบังคับของจำเลยที่กำหนดให้โจทก์ต้องขอรับเงินบำเหน็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งให้ออกจากงานขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จหาได้ไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า การที่โจทก์อนุญาตให้รถร่วมทำการขนส่งสินค้าให้แก่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยเป็นการจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยโดยชัดแจ้ง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเมื่อโจทก์เก็บเงินค่าจ้างขนส่งจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 ได้แล้วไม่นำฝากเข้าบัญชีของจำเลยกลับนำเงินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีภริยาของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฉะนั้น จำเลยจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยข้อที่ 15 (1) และ (2) ที่ว่า พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพหรือบำเหน็จถ้าถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง ข้อบังคับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้และเป็นเงื่อนไขที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรมอันดีของประชาชน จึงชอบด้วยกฎหมายมีผลผูกพันจำเลยกับพนักงานของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน