แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ป.รัษฎากรมาตรา 72 วรรคสอง ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน 2524 จึงต้องถือว่าวันที่ 10เมษายน 2524 เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี.
โจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามที่บัญญัติไว้ใน ป. รัษฎากร มาตรา 69 เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตาม มาตรา 71(1) ที่จะประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอด รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆแม้โจทก์จะส่งมอบบัญชีและเอกสารในภายหลัง ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวหมดสิ้นไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์มิได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และเจ้าพนักงานประเมินกำหนดยอดรายรับของโจทก์เป็นเงิน 7,882,411.33 บาท กับได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เป็นเงิน 394,120 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบเหตุที่โจทก์มิได้ยื่นงบดุลภายในกำหนดเวลา 150 วันเพราะโจทก์ประสบการขาดทุนและเลิกประกอบกิจการ พนักงานบัญชีลาออกไป โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการยื่นงบดุล ทั้งการจดทะเบียนเลิกห้างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จ ถือได้ว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยังมิได้รับจดทะเบียนเลิกห้างโดยเด็ดขาด ฉะนั้นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจึงยังไม่เกิดขึ้นตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากร และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามที่เจ้าพนักงานประเมินมา
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดต่อมาโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2524 โดยมีนายวิโรจน์ ธรรมรุ่งพิทักษ์หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นยังไม่เสร็จสิ้นการชำระบัญชี หลังจากโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างแล้วโจทก์มิได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2524 โจทก์จึงถูกเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2524ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย เป็นเงินค่าภาษีจำนวนทั้งสิ้น 394,120 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยื่นตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 10เมษายน 2524 แต่ยังอยู่ระหว่างการชำระบัญชี จึงถือว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยังมิได้รับจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์โดยเด็ดขาด ดังนั้น วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจึงยังไม่เกิดขึ้นตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มาตรา 72 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน 2524 จึงต้องถือว่าวันที่ 10เมษายน 2524 เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการยื่นงบดุลแต่ที่โจทก์ไม่ได้จัดทำงบดุลยื่นต่อจำเลยตามกำหนดเวลานั้นเป็นเพราะนางสาววไลพร ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดทำงบดุลและยื่นงบดุลนั้นได้ลาออกไปโดยมิได้บอกกล่าวให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ทราบ แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายให้โจทก์นำสมุดบัญชีและเอกสารการลงบัญชีไปให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบและไต่สวนโจทก์ก็ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อแก้ตัวของโจทก์ในการที่ไม่ยื่นงบดุลดังกล่าวนั้นไม่อาจรับฟังได้ทั้งเห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่ในการยื่นงบดุลเท่าที่ควร เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 69 เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1)แม้โจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารในภายหลังตามที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายให้โจทก์ส่งก็หาทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา71(1) ดังกล่าวหมดสิ้นไปไม่ และการที่โจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารดังกล่าวเป็นการช่วยให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถคำนวณภาษีตามมาตรา 71 (1) ได้ถูกต้องเป็นธรรมยิ่งขึ้น…”
พิพากษายืน