คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ แต่ยังมิได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนที่ดินที่ซื้อขายกันโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนราคาที่ดินส่วนที่ยังค้างชำระเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ค่าที่ดินที่จำเลยยังค้างชำระ อันทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เหนือที่ดินนั้น เพื่อเอาชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งหากได้ไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนสิ้นเชิงได้ หามีบทบัญญัติอื่นใดที่จะตัดทอนอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 289 จะได้บัญญัติว่า’ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธินอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 281ถึง 288 นี้แล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนองมาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี’ ก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าให้นำมาใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อบทในลักษณะบุริมสิทธิ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเอาชำระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์นั้นก่อนเจ้าหนี้อื่นเท่านั้น เหตุดังกล่าวจึงนำบทบัญญัติมาตรา 733 มาใช้บังคับแก่คดีไม่ได้ ดังนั้น หากยึดที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิขายทอดตลาดยังไม่พอชำระหนี้มาตรา273,276 ห้ามเพียงมิให้โจทก์บังคับบุริมสิทธิเอาแก่ทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิตามฟ้องเท่านั้น แต่มิได้ห้ามโจทก์ในอันที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระหนี้จนกว่าจะครบอย่างเจ้าหนี้สามัญศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นมาชำระหนี้จนกว่าจะครบได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2523)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 8543 และ 8544 จากกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังค้างชำระราคาอยู่ 4,100,000บาท โดยจดทะเบียนเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดิน 2 แปลงนี้ไว้ เป็นหลักฐานว่าจะชำระให้เสร็จภายใน 18 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยขอผัดการชำระไปถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี และขอชำระดอกเบี้ย 2 งวด งวดที่ 1 ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2515 งวดที่ 2ภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 หากผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์เรียกเงินต้นทั้งหมดได้ทันที พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย โจทก์ทวงถามก็รับสภาพหนี้ แต่ขอผัดเรื่อยมาจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2515ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 61 เดือน เป็นเงิน 3,126,250 บาท รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 7,226,250 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงิน 4,100,000 บาท ในอัตราร้อยละ15 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ใช้ให้ยึดที่ดิน 2 แปลงที่จดทะเบียนบุริมสิทธิไว้ขายทอดตลาดถ้าได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระให้โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 8543 และ 8544 จากกองมรดกของโจทก์และจดทะเบียนบุริมสิทธิในที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวเป็นเงิน 4,100,000บาทจริง โจทก์ให้คำมั่นแก่จำเลยว่าจะไม่เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้จนกว่าจำเลยจะขายที่ดิน 2 แปลงตามฟ้องก่อนโดยให้เวลาถึงปี พ.ศ. 2525 โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแล้วยังให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องอีกเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่น ของจำเลยขายทอดตลาดเพราะไม่ปรากฏทางทะเบียนว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แต่อย่างใด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีหรือร้อยละ 7 ต่อปี และประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นอีกหรือไม่เป็นข้อกฎหมาย

จำเลยแถลงขอสืบพยานในข้อต่อสู้ที่ว่า โจทก์ได้ให้คำมั่นด้วยวาจาว่าจะขยายเวลาบังคับคดีนี้ไปจนถึง พ.ศ. 2525 โจทก์แถลงว่าโจทก์ไม่เคยให้คำมั่นว่าจะขยายเวลาให้จำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย พิพากษาให้จำเลยใช้หนี้ 7,175,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 4,100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิขายทอดตลาดใช้หนี้ หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนกว่าจะครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลล่างในประเด็นอื่นและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องบุริมสิทธิว่าที่จำเลยฎีกาว่า หากขายที่ดินที่จดบุริมสิทธิไว้ได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยต่อไป เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ประกอบด้วยมาตรา 289 นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า บุริมสิทธิในคดีนี้เกิดจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ แต่ยังมิได้ชำระราคาค่าที่ดินให้หมด คงค้างชำระส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ซึ่งในวันจดทะเบียนโอนที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันได้จดทะเบียนราคาที่ดินส่วนที่ 3 เป็นเงิน 4,100,000บาทที่ยังค้างชำระเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ค่าที่ดินที่จำเลยยังค้างชำระอันทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 276 ใช้สำหรับเอาราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยในราคานั้นและมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้นซึ่งได้บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่า ราคาหรือดอกเบี้ยในนั้นยังมิได้ชำระบุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 288เหตุดังกล่าวโจทก์จึงย่อมมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินสองแปลงตามที่โจทก์ฟ้องเพื่อเอาชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งหากได้ไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนสิ้นเชิง หามีบทบัญญัติอื่นใดที่จะตัดทอนอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 289 จะได้บัญญัติว่า”ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธินอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 281 ถึง 288 นี้แล้วท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนองมาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี” ก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าให้นำมาใช้เท่าที่ไม่ขัดกับตัวบทในลักษณะบุริมสิทธิ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเอาชำระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์นั้นก่อนเจ้าหนี้อื่นเท่านั้น เหตุดังกล่าวจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 มาใช้บังคับแก่คดีไม่ได้ดั่งที่จำเลยฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเมื่อจำเลยต้องใช้หนี้ค่าซื้อที่ดินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาซึ่งหากยึดที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิขายทอดตลาดยังไม่พอชำระหนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273, 276 ห้ามเพียงมิให้โจทก์บังคับบุริมสิทธิเอาแก่ทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิตามฟ้องเท่านั้น แต่มิได้ห้ามโจทก์ในอันที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระหนี้จนกว่าจะครบอย่างเจ้าหนี้สามัญจึงต้องด้วยความเห็นของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาทแทนโจทก์

Share