คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2194/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่รับพนักงานเข้าทำงาน โจทก์รับพนักงานโดยไม่คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติผ่านคณะกรรมการสัมภาษณ์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน และข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานข้อบังคับในเรื่องการรับพนักงานมีความสำคัญยิ่งต่อจำเลยการที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับในเรื่องนี้จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเงินบำเหน็จเงินเดือนระหว่างถูกพักงาน และค่าชดเชย โจทก์อุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าความผิดของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรง เพราะพนักงานที่โจทก์รับเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนข้อบังคับนั้น ยังคงทำงานอยู่ แสดงว่ามีความสามารถทำงานได้ไม่ทำให้จำเลยเสียหายนั้น เห็นว่า ความร้ายแรงของ ความผิดมิได้อยู่ที่ว่าบุคคลเหล่านั้นมีความสามารถทำงานได้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับที่มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดเห็นว่าข้อบังคับในเรื่องการรับพนักงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจำเลย การกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนข้อบังคับในเรื่องนี้จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าความผิดของโจทก์เป็นความผิดวินัยร้ายแรง เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนปราศจากพยานหลักฐานเพราะมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงเพื่อเปรียบเทียบกับการกระทำของโจทก์ในคดีนี้นั้น เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าความผิดของโจทก์เป็นความผิดวินัยร้ายแรง โดยมิได้ยกความผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรงขึ้นวินิจฉัยเปรียบเทียบนั้น หาเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนไม่”

พิพากษายืน

Share