คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2193/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำเช็คที่บริษัท ล. สั่งจ่ายให้โจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมสลักหลังให้จำเลยแล้วนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารตามเช็คเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้จะเป็นการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อธนาคารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อโจทก์ร่วม หากโจทก์ร่วมจะได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิที่จะได้รับเงินตามเช็คไป ก็เป็นความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับในความผิดฐานปลอมเอกสาร หาใช่ความเสียหายจากการหลอกลวงของจำเลยไม่ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงและไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ป.วิ.อ.(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 12 ที่โจทก์ฎีกาว่าไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264,266, 268, 341, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 5,730 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวชุติมา สิริพิพัฒน์ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 จำคุก 1 เดือน กับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 ประกอบมาตรา 268 และฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341ความผิดตามมาตรา 268 และมาตรา 341 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 268 บทเดียว ตามมาตรา 90 จำคุก2 เดือน รวมเป็นจำคุก 3 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 5,730บาทแก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เสียด้วย และให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำเช็คอันเป็นเช็คที่บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด สั่งจ่ายให้โจทก์ร่วมซึ่งจำเลยได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมสลักหลังให้จำเลยแล้วนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารเชสแมนฮัตตันเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้จะเป็นการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อธนาคารเชสแมนฮัตตันและเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อโจทก์ร่วม หากโจทก์ร่วมจะได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิที่จะได้รับเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ไป ก็เป็นความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับในความผิดฐานปลอมเอกสาร หาใช่ความเสียหายจากการหลอกลวงของจำเลยไม่ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงและไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 12 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share