แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มีการปล่อยสินเชื่อจำนวน 28 ราย โดยไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์ การให้สินเชื่อทั้ง 28 ราย ไม่เคยนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ คณะกรรมการสะสางหนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ตลอดถึงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคาร มิได้เร่งรัดติดตามหนี้สิน หรือดำเนินการใด เพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ ซึ่งได้มีการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง เพื่อให้สั่งการ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มิได้สั่งการแต่ประการใด เป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากลูกหนี้ทั้ง 28 ราย ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นบริษัทซึ่งกรรมการของโจทก์หลายคนเป็นกรรมการในบริษัทลูกหนี้หลายบริษัทหรือมิฉะนั้นเป็นเพื่อนสนิทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการ ซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งโดยมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ส่วนวรรคสองหมายถึงกิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้น หาได้หมายความว่า กรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการ ที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่ เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใด กรรมการผู้นั้นจึงต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัทนั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการให้ดีได้
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ก. ให้สินเชื่อ ข. ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ค. ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และอาจกระทำธุรกิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ทวิ คือธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจอันเป็นประเพณีที่ธนาคารพาณิชย์พึงกระทำ เช่น การเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงิน การรับอาวัลตั๋วเงิน การรับรองตั๋วเงิน การออกเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือการค้ำประกันหรือธุรกิจทำนองเดียวกันด้วย ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อไปแล้ว ก็จะต้องมีหน้าที่ติดตามประเมินผลและเร่งรัดจัดเก็บหนี้ดังกล่าวให้ได้ด้วย มิฉะนั้นก็จะทำให้การประกอบธุรกิจธนาคารมีข้อขัดข้อง และทำให้สินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง ดังนั้น ธุรกิจการธนาคารพาณิชย์จึงต้องอาศัยกรรมการผู้มีความรอบรู้ในธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของธนาคารให้ลุล่วงไปด้วยดี การที่ธุรกิจของโจทก์ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2523 ไม่ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับไม่พอใช้จนถึงด้อยคุณภาพ จัดชั้นเป็นสูญและสงสัยจำนวนสูง การแสดงผลกำไรตั้งแต่ปี 2522 ผิดพลาดเพราะแท้จริงแล้วธุรกิจของโจทก์ขาดทุนมิใช่กำไร มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้บริหารมาก แม้ว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 (2) และมาตรา 12 ทวิ ก็ตาม แต่หนี้ในกลุ่มดังกล่าว หลักประกันไม่คุ้มหรือไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมการของโจทก์ มีหน้าที่ต้องดูแลการบริหารกิจการของโจทก์มิให้เสียหาย กลับปล่อยให้มีการให้สินเชื่อโดยหลักประกันไม่คุ้ม เมื่อหนี้ถูกจัดเป็นหนี้เสียก็มิได้เร่งรัดติดตามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ก็หาได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขไม่ ดังนั้น เมื่อตามพฤติการณ์ควรจะรู้ข้อปัญหาดังกล่าว หรือโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนผู้ประกอบการค้าเช่นนั้นควรจะพึงรู้ได้ แต่มิได้กระทำการใดเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของโจทก์ จะอ้างว่าไม่รับรู้การบริหารงานของโจทก์หรือมิได้มาทำงานเป็นประจำก็ดี ไม่มีหน้าที่ก็ดี เพื่อปัดความรับผิดของตนหาได้ไม่
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยที่ 3จำเลยที่ 5 และกรรมการธนาคารโจทก์ชุดเดิมทำสัญญาให้ความช่วยเหลือพยุงฐานะธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 แสดงให้เห็นว่าโจทก์เพิ่งทราบถึงการทำละเมิดและผู้ที่จะต้องรับผิดในวันนั้น คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2528 ไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลเดิมใช้ชื่อว่าธนาคารเอเซียทรัสท์ จำกัด ต่อมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาพยุงฐานะของโจทก์และเข้าถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ โจทก์จึงเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมการบริหารของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามลำดับ จำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นตัวแทนของโจทก์มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อทุกประเภทแก่ลูกค้า เช่น การเบิกเงินเกินบัญชี การกู้ยืมเงิน รับอาวัล หรือรับรองตั๋วเงิน การค้ำประกัน การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต และการทำสัญญาทรัสต์รีซีท โดยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์และประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ระหว่างที่จำเลยทั้งเจ็ดเป็นตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ร่วมกันอนุมัติรับรองค้ำประกันหนี้ของบริษัท เอ. ที. บี. ไฟแนนซ์ จำกัด (ฮ่องกง) และร่วมกันอนุมัติให้สินเชื่อ รับอาวัล หรือรับรองตั๋วเงินและค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมเงินแก่บุคคลและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังนี้
1. หนี้เงินกู้ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ โดยได้ทำหรือจัดให้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศในนามของโจทก์ด้วยวิธีโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์)
2. หนี้การรับรอง ค้ำประกันบริษัท เอ. ที. บี. ไฟแนนซ์ จำกัด (ฮ่องกง) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำหรือร่วมกันจัดให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ออกหนังสือค้ำประกันหรือออกหนังสือรับรอง (เลตเตอร์ออฟคอมฟอร์ต) ในนามของโจทก์ เป็นการค้ำประกันหรือรับรองในภาระหนี้ของบริษัท เอ. ที. บี. ไฟแนนซ์ จำกัด (ฮ่องกง) ที่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศหลายราย โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์
3. หนี้จากการอนุมัติให้สินเชื่อ รับอาวัลหรือรับรองตั๋วเงินและการค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมแก่ลูกค้าในประเทศ จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันอนุมัติให้สินเชื่อ รับอาวัลหรือรับรองตั๋วเงิน และการค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมแก่ธุรกิจที่จำเลยทั้งเจ็ดมีส่วนได้เสียเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าฐานะและความสามารถที่จะชำระหนี้ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้ 3 ประเภทดังกล่าว จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการมิได้สอดส่องดูแล จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 669,368,771.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 632,685,301.60 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 354,377,602.17 บาท และจำนวน 144,553,529.73 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 335,172,561.12 บาท และต้นเงินจำนวน 134,036,144.84 บาท ตามลำดับ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,308,937,247.29 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 669,368,771.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 632,685,301.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 354,377,602.17 บาท และจำนวน 144,553,529.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 335,172,561.12 บาท และของต้นเงินจำนวน 134,036,144.84 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,308,937,247.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000,000 บาท
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะหนี้เกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าภายในประเทศ โดยให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ถึงที่ 11 เป็นเงิน 1,382,520,662.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหาย สำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นเงิน 495,148,301.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นเงิน 605,653,914.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับลูกหนี้รายที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 382,725,670.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า จำเลยทั้งเจ็ดไม่ต้องรับผิดตามฟ้องข้อ 6 หนี้ละเมิดและการไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการโจทก์อันเกิดจากการอนุมัติให้สินเชื่อรับอาวัลหรือรับรองตั๋วเงินและการค้ำประกันเพื่อการกู้ยืมแก่ลูกค้าภายในประเทศรวม 28 ราย ในข้อนี้โจทก์มีนายปัญญาเบิกความว่า เป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ตั้งแต่ปี 2517 ต่อมาได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อและคลังสินค้า สำนักงานใหญ่ หัวหน้าส่วนเร่งรัดหนี้ สำนักงานใหญ่ หัวหน้าส่วนประจำฝ่ายสินเชื่อและการตลาดตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ มีหน้าที่สรุปข้อมูลของลูกค้าเพื่อดำเนินการต่ออายุวงเงินสินเชื่อ เพิ่มวงเงินสินเชื่อและขออนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ของสำนักงานใหญ่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์เกี่ยวกับฐานะของลูกค้า เพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาขอสินเชื่อ หลักเกณฑ์ที่ธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อลูกค้าคือพิจารณาจากความสามารถที่ลูกค้าจะชำระหนี้คืนธนาคาร โดยมีขั้นตอนการทำงานคือเมื่อลูกค้ามาขอสินเชื่อกับธนาคาร จะสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ประวัติการดำเนินกิจการของลูกค้าว่าลูกค้าดำเนินกิจการประเภทใด และหากลูกค้าเสนอโครงการ ธนาคารจะตรวจสอบว่าโครงการนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะได้เงินมาชำระหนี้คืนธนาคารหรือไม่ นอกจากนี้ลูกค้าจะต้องเสนอหลักประกันเข้ามาค้ำประกันวงเงิน เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคาร เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร บุคคล หรือเงินฝากประจำ ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน ธนาคารจะต้องพิจารณาดูว่า กิจการนั้นจะต้องเป็นกิจการที่ดีมากและมั่นคงมีประวัติการติดต่อกับธนาคารดี ผู้บริหารเป็นบุคคลมีชื่อเสียง หลังปล่อยสินเชื่อแล้วธนาคารจะทำการตรวจสอบว่า ลูกค้านำเงินที่ได้รับไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมหรือชมกิจการของลูกค้า เรียกขั้นนี้ว่า ขั้นติดตามสินเชื่อ การต่ออายุสัญญาต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น บัญชีเดินสะพัดมีการเดินบัญชีเดินสะพัดสม่ำเสมอหรือไม่ สินเชื่อประเภทเงินกู้จะต่ออายุให้ลูกค้าต้องไม่ค้างชำระเงินต้นเงินและดอกเบี้ย การขายลดตั๋วเงินเช็คที่ลูกค้านำมาขายจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องเช็คคืน การอาวัลหรือรับรอง ลูกค้าควรชำระหนี้นั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดโดยไม่ต้องให้ธนาคารชำระหนี้แทน ในกรณีต่อวงเงินหากไม่มีการต่อ ทางธนาคารจะส่งเรื่องให้ทางส่วนติดตามและเร่งรัดหนี้ดำเนินการทวงถามจากลูกค้าต่อไป หากทวงแล้วยังไม่ได้ฝ่ายสินเชื่อจะส่งเรื่องไปให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้อง เกี่ยวกับคดีนี้มีการปล่อยสินเชื่อแล้วทำให้ธนาคารโจทก์เสียหายทั้งหมด 28 ราย เหตุที่ทำให้ธนาคารโจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์ การให้สินเชื่อทั้ง 28 ราย ไม่เคยนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ คณะกรรมการสะสางหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ ตลอดถึงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคาร มิได้เร่งรัดติดตามหนี้สิน หรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ ซึ่งจากคำเบิกความของนายปัญญาว่าได้มีการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง เพื่อให้สั่งการ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มิได้สั่งการแต่ประการใด เป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากลูกหนี้ทั้ง 28 ราย ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นบริษัทซึ่งกรรมการของโจทก์หลายคนเป็นกรรมการในบริษัทลูกหนี้หลายบริษัทหรือมิฉะนั้นเป็นเพื่อสนิทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์เพราะการไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องการประกอบกิจการของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 หรือไม่ ตามมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการ ซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งโดยมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ส่วนวรรคสองหมายถึงกิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้น หาได้หมายความตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า กรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการ ที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่ เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใด กรรมการผู้นั้นจึงต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัทนั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการให้ดีได้
เมื่อโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ก. ให้สินเชื่อ ข. ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ค. ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และอาจกระทำธุรกิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ทวิ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจอันเป็นประเพณีที่ธนาคารพึงกระทำ เช่น การเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงิน การรับอาวัลตั๋วเงิน การรับรองตั๋วเงิน การออกเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือการค้ำประกัน หรือธุรกิจทำนองเดียวกันด้วย ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อไปแล้ว ก็จะต้องมีหน้าที่ติดตามประเมินผลและเร่งรัดจัดเก็บหนี้ดังกล่าวให้ได้ด้วย มิฉะนั้นก็จะทำให้การประกอบธุรกิจธนาคารมีข้อขัดข้อง และทำให้สินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง ดังนั้น ธุรกิจการธนาคารพาณิชย์จึงต้องอาศัยกรรมการผู้มีความรอบรู้ในธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของธนาคารให้ลุล่วงไปด้วยดี การที่ธุรกิจของโจทก์ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2523 ไม่ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับไม่พอใช้จนถึงด้อยคุณภาพ จัดชั้นเป็นสูญและสงสัยจำนวนสูง การแสดงผลกำไรตั้งแต่ปี 2522 ผิดพลาดเพราะแท้จริงแล้วธุรกิจของโจทก์ขาดทุนมิใช่กำไร มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้บริหารมาก แม้ว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 (2) และมาตรา 12 ทวิ ก็ตาม แต่หนี้ในกลุ่มดังกล่าว หลักประกันไม่คุ้มหรือไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมการของโจทก์ มีหน้าที่ต้องดูแลการบริหารกิจการของโจทก์มิให้เสียหาย กลับปล่อยให้มีการให้สินเชื่อโดยหลักประกันไม่คุ้ม เมื่อหนี้ถูกจัดเป็นหนี้เสียก็มิได้เร่งรัดติดตามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ก็หาได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขไม่ ดังนั้น เมื่อตามพฤติการณ์ควรจะรู้ข้อปัญหาดังกล่าว หรือโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนผู้ประกอบการค้าเช่นนั้นควรจะพึงรู้ได้ แต่มิได้กระทำการใดเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของโจทก์ จะอ้างว่าไม่รับรู้การบริหารงานของโจทก์หรือมิได้มาทำงานเป็นประจำก็ดี ไม่มีหน้าที่ก็ดี เพื่อปัดความรับผิดของตนหาได้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาอ้างเหตุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการละเมิดนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์เบิกความว่า พยานได้กำชับให้จัดการติดตามเร่งรัดหนี้สินและหนี้ตั้งแต่ปี 2519 ลูกหนี้ทั้ง 52 ราย ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ก่อนปี 2519 แสดงให้เห็นว่าการแจ้งให้โจทก์ทราบในขณะนั้นเป็นเพียงให้ติดตามเร่งรัดหนี้สินที่ลูกหนี้มีต่อโจทก์เท่านั้น ไม่ได้แจ้งเรื่องจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งนี้เนื่องจากไม่ทราบว่าใครทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์บ้าง แต่ทางนำสืบได้ความว่ากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 และกรรมการธนาคารโจทก์ชุดเดิมทำสัญญาให้ความช่วยเหลือพยุงฐานะธนาคารโจทก์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 แสดงให้เห็นว่าโจทก์เพิ่งทราบถึงการทำละเมิดและผู้ที่จะต้องรับผิดในวันนั้น คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2528 ไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับคำฟ้องข้อ 6 เกี่ยวกับหนี้การอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าภายในประเทศ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 515,430,326.17 บาท ให้จำเลยที่ 5 รับผิดเป็นเงิน 332,155,670.11 บาท ให้จำเลยที่ 6 รับผิดเป็นเงิน 444,578,301.95 บาท ให้จำเลยที่ 7 รับผิดเป็นเงิน 587,653,914.53 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 500,000 บาท.