แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง นอกจากเป็นการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วยังต้องเป็นงานโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างและนายจ้างต้องเลิกจ้างลูกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย จำเลยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นปกติ จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานก่อสร้างอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยและจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ตามระยะเวลาการจ้างที่กำหนด กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสุดท้าย ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118และมาตรา 119 ไม่มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเหตุสุดวิสัย และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ก็มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ทำงานเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543 และจ้างโจทก์ที่ 4 ทำงานเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2544ตำแหน่งสถาปนิกอาวุโส สถาปนิก ผู้ประสานงานโครงการ และวิศวกรไฟฟ้าอาวุโส เพื่อทำงานในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส เฟส 4 และเฟส 5อัตราเงินเดือน เดือนละ 70,000 บาท 50,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากโครงการที่จำเลยดำเนินการอยู่ต้องหยุดทำงานเพราะบริษัทผู้ว่าจ้างเลิกกิจการ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 105,000 บาท 75,000 บาท 60,000 บาท และ 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องค่าจ้างจำนวน 35,000 บาท 25,000 บาท 20,000 บาท และ 15,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2544 และค่าชดเชย จำนวน 70,000 บาท 50,000 บาท 40,000 บาท และ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ทำงานชั่วคราวในโครงการซีซั่นส์ เพลส เฟส 4 และเฟส 5 โดยจำเลยได้รับการจ้างจากบริษัทกรีไทย จำกัด อีกต่อหนึ่งเป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนและเป็นงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นครั้งคราวตามโครงการที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานที่แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และไม่ได้เป็นงานประจำของจำเลยหลังทำสัญญาจำเลยได้นำโจทก์ทั้งสี่และพนักงานอื่นเข้าทำงานในโครงการดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำเลยได้พาโจทก์ทั้งสี่และพนักงานคนอื่นเข้าทำงานตามปกติแต่ไม่สามารถเข้าทำงานได้ เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 การที่จำเลยไม่สามารถจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ทำงานในโครงการดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ใช่ความผิดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยรับจ้างเข้าบริหารโครงการก่อสร้างในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส เฟส 4 และ เฟส 5 ให้แก่บริษัทกรีไทย จำกัด จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ทำงานก่อสร้างในโครงการดังกล่าวสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน2543 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ให้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 70,000 บาท โจทก์ที่ 2 เดือนละ 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 เดือนละ 40,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 4 เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2544 ให้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 จำเลยได้รับแจ้งว่าศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทกรีไทย จำกัดจำเลยไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานในโครงการดังกล่าวได้ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 แล้ววินิจฉัยว่างานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ มิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะอันมิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสาม วรรคสุดท้าย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นมิใช่เป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 105,000 บาท 75,000 บาท 60,000 บาท และ 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 28 พฤษภาคม 2544) ค่าจ้างจำนวน 35,000 บาท 25,000บาท 20,000 บาท และ 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2544 และค่าชดเชยจำนวน 70,000บาท 50,000 บาท 40,000 บาท และ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนสำหรับงานโครงการที่มิใช่งานปกติธุรกิจของนายจ้างอันได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสุดท้ายหรือไม่ เห็นว่า การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างดังที่กล่าวนั้น นอกจากเป็นการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วยังต้องเป็นงานโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างและนายจ้างต้องเลิกจ้างลูกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นปกติ จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ทำงานก่อสร้างในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส เฟส 4 และเฟส 5 อันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยและจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ตามระยะเวลาการจ้างที่กำหนดดังนี้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสุดท้าย ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสี่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถพาโจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส ได้นั้นเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวและมาตรา 119 มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเหตุสุดวิสัย และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งบัญญัติข้อยกเว้นกรณีไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ ก็มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกันดังนั้น การวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน