คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำหนังสือขายฝากที่ดินมือเปล่าโดยไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีข้อความว่า ถ้าไม่ไถ่คืนภายใน 1 ปีก็ขาด แม้สัญญาขายฝากนั้นจะเป็นโมฆะก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า คู่กรณีได้มีเจตนาขายฝากที่พิพาทต่อกันโดยแสดงเจตนาว่า ถ้าไม่ไถ่คืนภายใน 1 ปี ก็ขาด เมื่อผู้ขายฝากมอบสิทธิครอบครองในที่ที่ขายฝากนั้นให้ผู้ซื้อครอบครองตั้งแต่วันขายฝากตลอดมา ก็ถือได้ว่าเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันแสดงเจตนาขายฝาก ผู้ขายยอมสละสิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่ในที่ที่ขายฝากให้โจทก์โดยเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นแล้ว
ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมโอนไปได้โดยการส่งมอบทรัพย์ที่ครอบครอง.

ย่อยาว

โจทก์ที่ ๑ ฟ้องว่า สามีจำเลยและจำเลยกู้เงินโจทก์ไปโดยทำสัญญาไว้ว่า ถ้าสามีจำเลยและจำเลยไม่ชำระหนี้สินภายใน ๑ ปี ยอมยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ให้ เป็นการชำระหนี้แทนเงินแก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดสามีจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระหนี้ ได้เอาที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ และ ที่ ๓ และได้ครอบครองทำประโยชน์มาเกินกว่า ๑ ปีแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงได้สิทธิครอบครอง เมื่อสามีจำเลยตายจำเลยร้องขอรับมรดกที่พิพาท แล้วจะเอาไปขายให้คนอื่น จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีและในฐานะส่วนตัวโอนที่พิพาทให้โจทก์
จำเลยต่อสู้ว่า สามีจำเลยได้กู้เงินโจทก์ที่ ๑ และให้โจทก์ที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทต่างดอกเบี้ย มิได้เอาที่ตีใช้หนี้แทนเงินแก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ เอาที่พิพาทไปขายให้โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ โดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอม การซื้อขายจึงมิชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาขายฝากที่โจทก์นำมาฟ้อง ทำกันเองมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สภาพเดิม การครอบครองของโจทก์ทุกคนไม่เกิดผล ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จำเลยที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า สัญญาขายฝากเมื่อจดทะเบียนต่อหนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ตกเป็นโมฆะ แต่มีข้อความต่อท้ายสัญญาว่า “ถ้าไม่ไถ่ภายใน ๑ ปี ขาด” เป็นการแสดงว่าเมื่อครบกำหนด ๑ ปี ผู้ขายไม่ไถ่คืน ยอมสละสิทธิครอบครองในที่พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทันที โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมากว่า ๒ ปีแล้ว จึงได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาท้ายฟ้องเป็นสัญญาขายฝาก แม้สัญญานั้นจะเป็นโมฆะก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคู่กรณีได้มีเจตนาขายฝากที่พิพาทต่อกันโดยแสดงเจตนาว่า ถ้าไม่ไถ่คืนภายใน ๑ ปีก็ขาด และสามีจำเลยมอบสิทธิครอบครองในที่พิพาทให้โจทก์ที่ ๑ ครอบครองในฐานะผู้ซื้อตั้งแต่นั้นตลอดมา ก็ถือได้ว่า เมื่อพ้นกำหนด๑ ปี นับจากวันแสดงเจตนาขายฝาก สามีจำเลยยอมสละสิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่ในที่พิพาทให้โจทก์ที่ ๑ โดยเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นแล้ว และฟังว่าจำเลยได้สละการครอบครองที่พิพาทให้โจทก์แล้ว ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมโอนไปได้โดยการส่งมอบทรัพย์ที่ครอบครอง เมื่อสามีจำเลยได้สละเจตนาครอบครอง และโอนการครอบครองด้วยการส่งมอบให้โจทก์ที่ ๑ ไปแล้ว โจทก์ที่ ๑ ย่อมได้สิทธิครอบครอง ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ร่วมทำสัญญาด้วย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นว่ามาแต่ต้น จึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.

Share