คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินทุกแปลงตามฟ้องแก่โจทก์ และให้ไปทำการจดทะเบียนโอนแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลงตามฟ้องจำนวนครึ่งหนึ่งแก่โจทก์ โดยจดทะเบียนสิทธิให้โจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง หรือให้นำที่ดินทุกแปลงหรือบางแปลงที่ไม่อาจตกลงกันได้ออกประมูลขายในระหว่างทายาทด้วยกัน หรือขายให้แก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ได้แบ่งครึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลย 2 และที่ 3 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2157 ตำบลปทุมวัน อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้า จำนวนเนื้อที่หนึ่งในสาม ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19270 ถึง 19280 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้าจำนวนเนื้อที่หนึ่งในสาม ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19287 ถึง 19291 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้าจำนวนเนื้อที่หนึ่งในสาม ให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19281 ถึง 19286 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้าจำนวนเนื้อที่หนึ่งในสาม กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19292 และ 19293 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้าจำนวนเนื้อที่หนึ่งในสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้นำทรัพย์สินออกประมูลขายในระหว่างโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่มีชื่อเป็นเจ้าของหรือขายทอดตลาดแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ขายได้เฉพาะค่าที่ดินมาแบ่งกันตามส่วนดังกล่าวข้างต้น หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายยอดยิ่งกับนางต้า และเป็นผู้จัดการมรดกของนางต้า นายยอดยิ่งบิดาโจทก์กับนางต้ามารดาโจทก์ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ก่อนปี 2478 มีบุตรด้วยกัน 7 คน แต่เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2507 มารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อปี 2508 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยา เมื่อปี 2512 บิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2157 ตำบลปทุมวัน อำเภอสำเพ็ง กรุงเทพมหานคร และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2214 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยในวันเดียวกับที่บิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2214 บิดาโจทก์ได้นำที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ต่อมาได้ไถ่ถอนจำนองคืนและนำไปจำนองใหม่ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างจำนองอยู่นั้นเมื่อปี 2514 บิดาโจทก์ได้ขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2214 เป็นแปลงย่อยรวม 29 แปลง ต่อมาเมื่อปี 2524 บิดาโจทก์โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2157 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และเมื่อปี 2526 บิดาโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 2214 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 บางส่วน ซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19281 ถึง 19286 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 19287 ถึง 19291 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 19292 และ 19293 ซึ่งรวมโฉนดมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 19292 ถึง 19294 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และต่อมาเมื่อปี 2536 บิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 19270 ถึง 19280 ตำบลอนุสาวรีย์ (หลุมไผ่) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2214 เช่นกันให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2543 บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่บิดาโจทก์ทำพินัยกรรมยกให้ดังกล่าวมาเป็นของตนเอง เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามก่อนว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางต้ามารดาฟ้องเรียกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2157 และ 2214 ซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางต้ามารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลง รวมทั้งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2157 และ 2214 ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share