แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติถึงอายุความสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายของสินค้าที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ในกรณีที่มีการส่งมอบ ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ และมาตรา 40 บัญญัติว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ให้ถือว่า ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว… (3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การยกอายุความนี้ขึ้นต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าแก่ท่าเรือปลายทางแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล ฯ มาตรา 40 (3) และโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบดังกล่าว โดยปรากฏตามรายงานการสำรวจสินค้าของผู้ประกอบการท่าเรือปลายทางว่า เจ้าหน้าที่ท่าเรือได้ตรวจสินค้าตามฟ้องที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 เมื่อท่าเรือปลายทางนี้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ใช้ปฏิบัติว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าตามฟ้องที่ขนส่งมากับเรือแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือปลายทางจึงจะถือเป็นการส่งมอบของตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล ฯ มาตรา 40 (3) ดังนั้น ที่โจทก์มารับสินค้าภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือ ทำให้โจทก์ทราบถึงความเสียหายของสินค้าในภายหลัง โจทก์ยังคงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรืออันถือเป็นการส่งมอบของตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือเสร็จสิ้นวันที่ 14 มกราคม 2550 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 มกราคม 2551 อันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 42,543,619.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 39,575,460.19 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 742,403 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 342,466 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และในกรณีที่จำเลยที่ 1 จะชำระเงินสกุลบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่มีการใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง)ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35.39 บาท ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 20,000 บาท ค่าทนายความให้โจทก์ร่วม 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์และโจทก์ร่วมชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้สั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวางระบบโรงกลั่นน้ำมันในโครงการอะโรเมติกส์คอมเพล็กซ์ 2 ของโจทก์จากผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี อันได้แก่สินค้าเครื่องจักร STEEL PIPE & AIR COOLED HEAT EXCHANGER จำนวน 125 ชุด และ 690 เมตร ในเงื่อนไขเทอม C&F BANGKOK เป็นเงิน 5,594,424.68 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าบรรจุในหีบห่อจำนวน 335 หีบห่อ ผู้ขายว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยและโจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวโดยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด (ALL RISKS) ไว้กับโจทก์ร่วม เมื่อเรือบรรทุกสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือทีพีทีของบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด จำเลยที่ 1 ได้ขนถ่ายสินค้าทั้งหมดเข้าเก็บไว้ที่ท่าเรือ โดยเริ่มขนถ่ายวันที่ 13 มกราคม 2550 และขนถ่ายเสร็จสิ้นวันที่ 14 มกราคม 2550 ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2550 โจทก์ติดต่อขอรับสินค้าจากเจ้าหน้าที่ท่าเรือจึงทราบว่าสินค้าได้รับความเสียหาย ตัวเครื่องจักรคดงอและบิดเบี้ยวจนเสียรูปทรง บางส่วนมีสภาพหีบห่อแตกหักโดยเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 1 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นยุติ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์และโจทก์ร่วมที่มีต่อจำเลยที่ 1 ตามฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติถึงอายุความสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายของสินค้าที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้น ในกรณีที่มีการส่งมอบ ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ และมาตรา 40 บัญญัติว่าในกรณีดังต่อไปนี้ให้ถือว่า ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว … (3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1ก็ให้การยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าแก่ท่าเรือปลายทางแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) และโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบดังกล่าว โดยปรากฏตามรายงานการสำรวจสินค้าของบริษัทไทยพรอสเพอริตี เทอมินอล จำกัด ผู้ประกอบการท่าเรือทีพีทีอันเป็นท่าเรือปลายทาง เอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ท่าเรือดังกล่าวได้ตรวจสินค้าตามฟ้องที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 ทั้งตามพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่นำสืบตรงกันรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 ขนถ่ายสินค้าจากเรือวันที่ 13 มกราคม 2550 และขนถ่ายเสร็จวันที่ 14 มกราคม 2550 ทั้งนายภาณุ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการประจำสำนักงานท่าเรือมาบตาพุดของบริษัทไทยพรอสเพอริตี เทอมินอล จำกัด เบิกความเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเรือเข้าเทียบท่าเรือดังกล่าวว่า เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว พนักงานเรือจะขนถ่ายสินค้าขึ้นมาที่ท่าเรือ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ท่าเรือรับมอบสินค้า ขณะเจ้าหน้าที่รับมอบสินค้าก็จะบันทึกรายละเอียดสินค้า โดยหากพบความเสียหายก็จะบันทึกรายละเอียดความเสียหายและให้พนักงานเรือรับทราบกับลงชื่อไว้ด้วย โดยกรณีสินค้าตามฟ้องมีการทำบันทึกการตรวจนับสินค้าและความเสียหายของสินค้าดังกล่าวไว้ ตามรายการขนสินค้าจากเรือและรายการสินค้าชำรุด จากนั้นทางท่าเรือจะเก็บสินค้าไว้ในโรงพักสินค้าเพื่อรอผู้รับตราส่งมารับ โดยจะต้องมีเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าที่แสดงว่าชำระค่าภาษีศุลกากรขาเข้าแล้ว ใบตราส่ง และใบสั่งปล่อยสินค้า โดยสินค้าตามฟ้องตัวแทนผู้รับตราส่งได้นำเอกสารทั้ง 3 ฉบับ นี้มาแสดงในการขอรับสินค้าตามพยานหลักฐานดังกล่าวก็ส่อแสดงถึงกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ใช้ปฏิบัติของท่าเรือปลายทางดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าตามฟ้องที่ขนส่งมากับเรือแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือปลายทาง อันถือเป็นการส่งมอบของตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มาตรา 40 (3) ดังกล่าวมาข้างต้น และแม้โจทก์จะมารับสินค้าภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือ ทำให้โจทก์ทราบถึงความเสียหายของสินค้าในภายหลัง โจทก์ยังคงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรืออันถือเป็นการส่งมอบของตามมาตรา 40 (3) ซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 และเมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่เจ้าหน้าที่ท่าเรือดังกล่าวเสร็จสิ้นวันที่ 14 มกราคม 2550 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 มกราคม 2551 อันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ค่าเสียหายตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ