คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดรวมกันโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสินค้าจำพวกน้ำยาฆ่ายางตราวัวแดงส่วนของจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตราแพะแดง แม้สลากของจำเลยจะระบุชื่อร้านค้าและจังหวัดที่ผลิตสินค้าของจำเลยต่างกับของโจทก์แต่การประดิษฐ์รูปแพะแดงของจำเลยให้มีโหนก มีเขายาว หางยาวคล้ายวัวแดง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดการสับสนยากที่จะแยกแยะได้ว่าเครื่องหมายใดเป็นที่หมายแห่งสินค้าของโจทก์หรือจำเลย ทั้งข้อความที่แตกต่างเป็นข้อความเพียงสั้น ๆ ปนอยู่กับข้อความอื่นทั้งหมดในสลากซึ่งเหมือนกับข้อความในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกตัวอักษรทั้งลักษณะและขนาด กรณีถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว ในคดีเครื่องหมายการค้า ศาลจะพิพากษาให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการบังคับบุคคลที่มิได้เป็นคู่ความในคดี และโจทก์ก็สามารถไปขอจดทะเบียนได้เองอยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำยาฆ่ายางมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงต่อกรมทะเบียนการค้าแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงโดยเพิ่มเติมคำบนรูปเครื่องหมายการค้าแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย รับจดทะเบียนให้โจทก์ไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการแข่งขันทางการค้าโดยไม่เป็นธรรม และไม่สุจริต จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลย เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอโจทก์
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปแพะแดงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งหมดจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามที่จำเลยฎีกาประการแรกสรุปได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น คือ เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4ซึ่งเป็นรูปวัวแดงไม่มีตัวหนังสือล้อมรอบ ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ จ.5 สำหรับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยได้ใช้มาก่อนมีการจดทะเบียนเป็นเวลานานโดยโจทก์ไม่ได้คัดค้านหรือฟ้องร้องจำเลย เพราะเครื่องหมายการค้าหมายจ.2 ของจำเลยกับเครื่องหมายการค้าหมาย จ.4 ของโจทก์ต่างกันโดยของโจทก์ไม่มีสีสรรของสลากจดทะเบียนไว้ในรูปขาวดำ ไม่มีตัวหนังสือล้อมรอบตราวัวแดง และการวางรูปตราวัวแดงก็ไม่เหมือนกับของจำเลย เครื่องหมายการค้าหมาย จ.1, จ.5 ซึ่งมีสีสรร โจทก์เพิ่งทำขึ้นและนำมาขอจดทะเบียนหลังจากจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหมาย จ.2 ถึง 2 ปี นายทะเบียนจึงไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 เหมือนกับเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์นั้น เห็นว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนที่ 15168เอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ ซึ่งจำเลยรับว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นภาพสัตว์ และส่วนที่เป็นตัวอักษรส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 ก็มีส่วนประกอบ 2 ส่วนเช่นเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบส่วนที่เป็นภาพสัตว์แล้วจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกันแม้จำเลยจะเรียกรูปภาพสัตว์ของจำเลยว่าแพะแดง แต่จำเลยก็ประดิษฐ์รูปแพะของจำเลยให้มีโหนก มีเขายาว หางยาวคล้ายวัวแดงโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตัวอักษรนั้นจำเลยได้นำตัวอักษรที่เป็นข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาจีน รวมถึงการวางรูป การทำเส้นเป็นกรอบของโจทก์มาใช้ทั้งหมด คงเปลี่ยนเฉพาะที่เป็นชื่อบริษัทอารยะ ร.น.91จังหวัดตรังเป็นนครวิถีพาณิชย์ จังหวัดนครฯ เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยในอันที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อพิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์นำเอาเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์เองที่จดทะเบียนไว้แล้วมาเพิ่มเติมข้อความล้อมภาพสัตว์ คือ วัวแดงขึ้นเท่านั้น แม้โจทก์เพิ่งนำเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ไปขอจดทะเบียนหลังจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 แต่โจทก์ก็ยืนยันว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาก่อนนั้นแล้ว กรณีจึงถือว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้อยู่แล้วมาดัดแปลงและนำไปขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยจงใจลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังจะเห็นได้อีกข้อหนึ่งคือ หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้แล้วจำเลยได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอีกคำขอหนึ่งโดยใช้รูปแพะแดงหางสั้นเป็นเครื่องหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ไม่เหมือนกัน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่อถึงความไม่สุจริตใจของจำเลยหากจำเลยมั่นใจว่าเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2เป็นของจำเลยเอง จำเลยมิได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องกระทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลต่าง ๆดังวินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวดีกว่าจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยไม่เหมือนกันเพราะของโจทก์เป็นวัว ส่วนของจำเลยเป็นแพะนอกจากนั้นสลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังระบุไว้ว่าบริษัทอารยะ ร.น. 91 จังหวัดตรัง ส่วนของจำเลยก็ระบุไว้ชัดเจนว่านครวิถีพาณิชย์ จังหวัดนครฯ นั้น เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัด ด้วยการประดิษฐ์รูปแพะแดงให้มีลักษณะเหมือนกับวัวแดงซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชนเกิดการสับสน เพราะหากมองผ่าน ๆ แล้ว ยากที่จะแยกแยะได้ว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายแห่งสินค้าของจำเลยหรือของโจทก์กรณีฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน และแม้ภายใต้เครื่องหมายซึ่งเป็นรูปสัตว์คือรูปวัวแดง จะมีข้อความดังที่จำเลยอ้างก็ตาม การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ จะต้องพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดรวมกันข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นปรากฏว่าเป็นข้อความเพียงสั้น ๆ ปนอยู่กับข้อความทั้งหมดซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสลากเครื่องหมายการค้าซึ่งข้อความทั้งหมดนั้นเหมือนกันกับข้อความในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ทุกตัวอักษร แม้กระทั่งลักษณะและขนาดของตัวอักษรก็เหมือนกัน โอกาสที่ประชาชนจะสังเกตและแยกแยะข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย กรณีถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราวัวแดงดีกว่าจำเลยต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอให้แก่โจทก์นั้น เป็นการบังคับบุคคลที่มิได้เป็นคู่ความในคดี และโจทก์ก็สามารถจัดการในเรื่องนี้ได้เองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องสมควรแก้ไขในเรื่องนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 106755 ให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share