คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นร้องขัดทรัพย์ศาลที่ออกหมายบังคับคดีจะชี้ขาดได้แต่เพียงว่าสมควรปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือไม่เท่านั้นและถ้าหากได้ความจริงว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับโอนทรัพย์นั้นมาโดยไม่สุจริตเป็นการหลีกเลี่ยงการการชำระหนี้แก่โจทก์แล้วศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237ได้อยู่แล้วฉะนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนชื่อผู้ร้องทั้งสองออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้และชอบที่ศาลจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 730,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นของผู้ร้องทั้งสองโดยผู้ร้องทั้งสองได้ซื้อมาจากจำเลยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2533 ในราคา 3,700,000 บาท โดยสุจริตไม่ใช่ของจำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินทั้งสามแปลงที่นำยึดเป็นของจำเลย ผู้ร้องทั้งสองร่วมกับจำเลยฉ้อฉลโจทก์ทำนิติกรรมซื้อขายกันโดยทุจริตเพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับคดี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยกับผู้ร้องทั้งสองเสีย
ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะคำให้การไม่รับฟ้องแย้งของโจทก์โดยเห็นว่าไม่เกี่ยวกับคำร้องขัดทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนชื่อผู้ร้องทั้งสองออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคแรก บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ฯลฯ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ฯลฯ”ดังนี้เห็นว่า ในชั้นร้องขัดทรัพย์ศาลที่ออกหมายบังคับคดีจะชี้ขาดได้แต่เพียงว่าสมควรปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือไม่เท่านั้นและถ้าหากได้ความจริงว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับโอนทรัพย์นั้นมาโดยไม่สุจริต เป็นการหลีกเลี่ยงการชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนชื่อผู้ร้องทั้งสองออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share