คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซื้อบ้านพิพาทมาจาก ท. โดยมีข้อตกลงว่าให้บ้านพิพาทอยู่ในที่เดิมเพื่อให้ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ไปก่อน แล้วจะไปจดทะเบียนในภายหลัง เห็นได้ชัดเจนว่าการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างผู้ร้องกับ ท. นั้นมีเจตนาซื้อขายกันอย่างอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา456 วรรคแรก บ้านพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท.เมื่อท.ถึงแก่ความตาย กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงเป็นมรดกของ ท. ตกทอดแก่จำเลยซึ่งมีสิทธิได้รับตามส่วนในฐานะทายาทคนหนึ่งของ ท.โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดมาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ใช้เงินกู้ และศาลพิพากษาตามยอม โดยให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 40,000 บาท จำเลยผิดนัด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาท อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนางทองดีที่จำเลยมีสิทธิได้รับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บ้านพิพาทเป็นของผู้ร้อง นางทองดีสุริวรรณ ย่าผู้ร้องได้ตกลงและทำสัญญาขายให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องชำระเงินครบถ้วนแล้ว และนางทองดีได้ส่งมอบบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องไว้แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ขอให้ปล่อยบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องซื้อบ้านมาจากนางทองดีตกลงจะไปโอนกัน มิใช่ซื้อเพื่อรื้อถอนไปอย่างการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นโมฆะ บ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางทองดี เมื่อนางทองดีถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยกับทายาทของนางทองดี โจทก์จึงมีสิทธิยึดบ้านพิพาทมาขายทอดตลาดได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามปัญหาที่ผู้ร้องฎีกาว่า การซื้อขายบ้านพิพาทเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่ส่งมอบการครอบครองก็สมบูรณ์ ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เห็นว่าผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ในการซื้อขายบ้านพิพาทได้มีการตกลงกันว่าให้บ้านพิพาทอยู่ในที่เดิม เพื่อให้ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ไปก่อน โดยจะไปจดทะเบียนในภายหลัง เห็นได้ชัดเจนว่าการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างผู้ร้องกับนางทองดีนั้นมีเจตนาซื้อขายกันอย่างอสังหาริมทรัพย์ เพราะถ้ามีเจตนาซื้อขายทรัพย์อย่างสังหาริมทรัพย์โดยให้มีการรื้อบ้านพิพาทกันจริงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีข้อตกลงในเรื่องที่ให้ไปจดทะเบียนกันในภายหลังด้วยอีก จึงเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรกบ้านพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางทองดี เมื่อนางทองดีถึงแก่ความตาย กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงเป็นมรดกของนางทองดีตกทอดแก่จำเลย ซึ่งมีสิทธิได้รับตามส่วนในฐานะทายาทคนหนึ่งของนางทองดี โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดมาขายทอดตลาดนำเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้
พิพากษายืน

Share