แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อ 2 กำหนดว่าโจทก์ผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินค่าซื้อที่ดินโดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 3 ชำระในวันที่ 10 กรกฎาคม 2522 และข้อ 5 กำหนดว่า ‘ผู้จะซื้อให้สัญญาว่า ถ้าผู้จะซื้อ ผิดนัดการชำระเงินตามที่ระบุไว้ในข้อ 2. ผู้จะซื้อยินดี ให้ผู้จะขายถือว่าผู้จะซื้อผิดสัญญา และยินดีให้ผู้จะขาย ริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด โดยมิต้องบอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้สะดุดหยุดลงด้วย’. การ ที่จำเลยยินยอมให้โจทก์แก้วันที่ในเช็คซึ่งชำระเงินงวดที่ 3 จากวันที่ 10 กรกฎาคม 2522 เป็นวันที่ 10 กันยายน 2522 เป็นการตกลงเลื่อนกำหนดการชำระเงินออกไปโดยกำหนดวันชำระเงินใหม่ไว้แน่นอนเช่นเดิมไม่มีพฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีไม่ถือเคร่งครัดตามกำหนดการชำระเงิน ความตกลงเช่น นี้แปลได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงกันเปลี่ยนกำหนดชำระเงินงวดที่ 3 ในข้อ 2 แห่งสัญญาเสียใหม่เท่านั้นหากระทบกระทั่ง ถึงสัญญาข้อ 5 ไม่ ดังนั้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของโจทก์ไม่พอจ่าย เป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้รับชำระเงินงวดที่ 3 ตามกำหนดใหม่ จึงถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 มีผลทำให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วและสัญญาเป็น อันเลิกกันตามสัญญาข้อ 5 โดยหาต้องบอกกล่าวเลิกสัญญา อีกไม่ และจำเลยไม่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายใน ระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์แบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดที่ 3ชำระในวันที่ 10 กรกฎาคม 2522 เมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระเงินให้จำเลยแล้ว 2 งวด งวดที่ 3 โจทก์สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 10 กรกฎาคม2522 ให้จำเลยไว้ แต่เนื่องจากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ได้โจทก์จึง ระงับการจ่ายเงินตามเช็คไว้ และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า เงินงวดที่ 3 ที่โจทก์ชำระด้วยเช็คนั้นเมื่อถึงกำหนดโจทก์ขอเลื่อนการนำเช็คไปขึ้นเงินไปอีก 2 เดือนอ้างว่านำเงินเข้าบัญชีไม่ทัน จำเลยยินยอมและโจทก์ได้แก้วันที่ในเช็คเป็นวันที่ 10 กันยายน 2522 เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงได้ริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บ้านเลขที่ 95/7 สิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย มิใช่เป็นของนางสาวกันยารัตน์ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องจัดการให้นางสาวกันยารัตน์ประกาศขายบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์เสียก่อน เหตุที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คซึ่งจ่ายเป็นค่าบ้านงวดที่ 3 เพราะเงินในบัญชีของโจทก์ในธนาคารไม่พอจ่าย สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 2 กำหนดว่าโจทก์ผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินค่าซื้อที่ดินโดยแบ่งเป็น 3 งวด มีกำหนดชำระเงินครบภายใน 3 เดือน คืองวดที่ 1 ชำระ 150,000 บาทในวันที่ 10 พฤษภาคม 2522 งวดที่ 2 ชำระ 180,000 บาทในวันที่ 10 มิถุนายน2522 งวดที่ 3 ชำระ 150,000 บาทในวันที่ 10 กรกฎาคม 2522และข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้จะซื้อให้สัญญาว่า ถ้าผู้จะซื้อผิดนัดการชำระเงินตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 แห่งสัญญานี้ผู้จะซื้อยินดีให้ผู้จะขายถือว่าผู้จะซื้อผิดสัญญา และยินดีให้ผู้จะขายริบงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด โดยมิต้องบอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้สะดุดหยุดลงด้วย” การที่จำเลยยินยอมให้โจทก์แก้วันที่ในเช็คจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2522เป็นวันที่ 10 กันยายน 2522 นั้น เป็นการตกลงเลื่อนกำหนดการชำระเงินออกไปโดยกำหนดวันชำระเงินใหม่ไว้แน่นอนเช่นเดิม ไม่มีพฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีไม่ถือเคร่งครัดตามกำหนดการชำระเงินแต่อย่างใด ความตกลงเช่นนี้แปลได้ว่า โจทก์จำเลยตกลงกันเปลี่ยนกำหนดชำระเงินงวดที่ 3 ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 แห่งสัญญาเสียใหม่เท่านั้น หากกระทบกระทั่งถึงสัญญาข้อ 5 ไม่ ฉะนั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของโจทก์ไม่พอจ่ายอันเป็นความผิดของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้รับชำระเงินงวดที่ 3 ตามกำหนดใหม่ จึงถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 มีผลทำให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วและสัญญาเป็นอันเลิกกันตามสัญญาข้อ 5 โดยหาต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาอีกไม่แต่ตอมาจำเลยได้ให้ทนายความมีหนังสือไปยังโจทก์ ยืนยันขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้ว 2 งวด ก็เป็นการแจ้งให้ทราบถึงการใช้สิทธิของจำเลยให้สัญญาสิ้นสุดลง และจำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วเท่านั้นมิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยหนังสือฉบับนั้น จำเลยไม่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อนการที่ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์และจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์