คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21814/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 72, 288 ริบปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายบรรลุ และนางอรุณี บิดามารดาของนางสาวนฤมล ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร จำนวน 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่านางสาวนฤมล ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายบรรลุ และนางอรุณี เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ นายบรรลุและนางอรุณี จึงไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของนายบรรลุและนางอรุณีจึงเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของนายบรรลุและนางอรุณี
พิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายบรรลุ และนางอรุณี ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของนายบรรลุและนางอรุณี และยกฎีกาของนายบรรลุและนางอรุณี

Share