คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงถนน การปรับปรุงถนนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำทางเบี่ยงไว้แต่มิได้ติดตั้งไฟสัญญาณให้มองเห็นในเวลากลางคืน ผู้ตายขับรถยนต์มาตามปกติถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมืดมากจึงชนเกาะกลางถนนถึงแก่ความตายดังนี้ เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ส่งมอบงานหรืออ้างว่าเป็นผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ มาตรา 428 ไม่ได้ เพราะตนมีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 66(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2ซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเกาะกลางถนน จำเลยไม่ติดตั้งไฟสัญญาณในเวลากลางคืน ทำให้สามีโจทก์ขับรถยนต์ชนเกาะกลางถนนถึงแก่ความตายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน585,637 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการก่อสร้างปรับปรุงถนนรวมทั้งเกาะกลางถนนที่เกิดเหตุด้วย ขณะก่อสร้างจำเลยได้ติดตั้งป้ายขนาดใหญ่แจ้งให้ผู้สัญจรไปมาทราบ สามีโจทก์ขับรถชนเกาะกลางถนนเพราะความประมาทขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 และฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้รับจ้างปรับปรุงถนนรวมทั้งเกาะกลางถนนที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุมีป้ายสัญญาณแจ้งเตือนผู้ใช้ถนนให้ระมัดระวังอย่างชัดเจน การที่สามีโจทก์ขับรถชนเกาะกลางถนนก็ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ป้ายเสียหายใช้การไม่ได้ ขอบปูนซิเมนต์ก่อสร้างเกาะกลางถนนเสียหายต้องทำใหม่ประมาณ 7,500 บาท ค่าเสียหายของโจทก์สูงเกินไป ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เกาะกลางถนนไม่ได้ติดตั้งป้ายแจ้งให้ทราบถึงการซ่อมถนนและไม่มีสัญญาณไฟให้สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งไม่เป็นความจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าการขับรถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายเป็นส่วนใหญ่ จำเลยที่ 2 ควรรับผิดเพียง 1 ใน 3 ส่วน หักค่าเสียหายตามฟ้องแย้งออกแล้ว เป็นเงินที่ต้องรับผิดจำนวน 82,121 บาทพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 82,121 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังว่า ผู้ตายขับรถยนต์ชนเกาะกลางถนนเนื่องจากความประมาทของจำเลยทั้งสาม พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 246,363บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ขณะเกิดเหตุบริเวณที่เกิดเหตุมืดมากและมองเห็นป้ายทางเบี่ยงได้ไม่ชัดเจน จำเลยทำการก่อสร้างปรับปรุงถนนจำเลยจะต้องปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานจราจรฉบับที่ 3/2516 เอกสารหมาย จ.7 ต้องติดตั้งเครื่องหมายและติดโคมไฟให้ประชาชนที่ใช้ทางได้เห็นชัดเจน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นตามที่โจทก์จำเลยนำสืบแม้จะได้ความว่า ผู้ตายเคยเป็นนายอำเภอบางกะปิ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตบางกะปิ และเคยขับรถยนต์ผ่านทางที่เกิดเหตุเป็นประจำ แต่ผู้ตายไม่มีหน้าที่ต้องจดจำว่าถนนตอนใดกำลังก่อสร้างบ้าง เพราะการก่อสร้างอาจเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ผู้ตายมีหน้าที่ขับรถยนต์ให้เป็นไปตามกฎ ข้อบังคับ ของเจ้าพนักงานจราจรและปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่ติดตั้งไว้ตามฎีกาจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุการก่อสร้างปรับปรุงถนนและเกาะกลางถนนเกือบจะแล้วเสร็จ ผู้ตายจึงไม่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างใด การที่ผู้ตายมีอายุ 63 ปี หาใช่เป็นอุปสรรคหรือทำให้สมรรถภาพในการขับรถยนต์หย่อนยานเสมอไปไม่ เหตุเหล่านี้จึงไม่ใช่เครื่องชี้ว่าผู้ตายเป็นผู้ประมาทที่จำเลยฎีกาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถโดยใช้ไฟต่ำ ไม่เปิดไฟสูงทำให้ไม่สามารถมองเห็นป้ายจราจรบอกทางเบี่ยงที่ปักไว้ที่หัวเกาะกลางถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่เป็นประเด็นในคดี แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเมื่อฟังตามคำนายชูเกียรติว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถไม่เร็ว เหตุตามฟ้องจึงเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายหรือผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยไม่ และเห็นว่าสำหรับกรณีนี้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังไม่ส่งมอบงานไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ป้องกันอุบัติเหตุหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนโดยตรงอยู่แล้ว ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างทำของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา66 (2) เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ประมาทด้วยแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์’
พิพากษายืน.

Share