คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การไต่สวนลูกหนี้โดย เปิดเผยเป็นคนละกรณีกับการสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไม่จำต้องกระทำก่อนพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย(ลูกหนี้) ทั้งสามเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือรายงานศาล ขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลาย และนัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยก่อน ส่วนวันนัดฟังคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายจะได้กำหนดภายหลัง
ระหว่างไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผย ลูกหนี้ทั้งสามขอเลื่อนถึง 3 ครั้ง ติดต่อกัน นัดสุดท้ายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านและขอให้ศาลออกหมายจับลูกหนี้ทั้งสาม ศาลชั้นต้นออกหมายจับลูกหนี้ทั้งสามตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 20 มิถุนายน 2532ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายก่อน แล้วจึงดำเนินการไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยในภายหลัง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยไว้ก่อน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 สิงหาคม 2532
ลูกหนี้ทั้งสามยื่นคำร้องลงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ขอให้ศาลงดการอ่านคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายไว้ก่อนและขอให้นัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยต่อไป ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลมีคำพิพากษาโดย ที่ยังไม่มีการไต่สวนลูกหนี้โดย เปิดเผยก่อนทั้งตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 แจ้งว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกลงมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลาย ตามมาตรา 61 จึงไม่มีเหตุให้งดการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาในวันเดียวกัน ส่วนการไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยนั้น มีคำสั่งว่า หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยก็ให้มีหนังสือเข้ามาในภายหลัง ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 สิงหาคม 2532ลูกหนี้ทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลูกหนี้ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยก่อนและนัดฟังคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายในภายหลัง แต่ต่อมานัดฟังคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายก่อน และนัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยในภายหลังนั้นชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การนัดไต่สวนลูกหนี้โดย เปิดเผยเป็นวัตถุประสงค์ของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายอย่างหนึ่งที่ให้ศาลทำการไต่สวนตัวลูกหนี้เพื่อทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เหตุผลที่ทำให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดย ไม่มีเงื่อนไข การไต่สวนลูกหนี้โดย เปิดเผยเป็นคนละกรณีกับการสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การไต่สวนลูกหนี้โดย เปิดเผยจึงไม่จำต้องกระทำก่อนพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลนัดไต่สวนมูลหนี้โดย เปิดเผยก่อนพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเช่นการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกลงมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายแล้ว การพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 61 เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายทันทีเมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ดังนั้นการที่ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายก่อนแล้วนัดไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยในภายหลังเพื่อความสะดวกตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอมา จึงหาได้เป็นการข้ามขั้นตอนไม่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสามล้มละลายก่อนไต่สวนลูกหนี้ทั้งสามโดย เปิดเผยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share