แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาเพิ่มเติมของจำเลยที่ยื่นเกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองแม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยขว้างลูกระเบิดเพื่อพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ และข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังว่าจำเลยมีลูกระเบิดศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืน พาอาวุธปืนมีลูกระเบิดมือและใช้ลูกระเบิดมือดังกล่าวขว้างเพื่อต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๕๕, ๗๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้อ ๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๘๙, ๓๗๑, ๘๐, ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ให้ริบของกลางและนับโทษติดต่อกับโทษจำเลยในคดีอื่น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๕๕, ๗๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้อ ๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๘๙ (มาตรา ๒๘๙ น่าจะผิดพลาด) ๓๗๑, ๘๐, ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน วางโทษฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาต จำคุก ๑ ปี ฐานพกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำคุก ๖ เดือน ฐานมีลูกระเบิดมือสังหารจำคุก ๒ ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานจำคุก ๖ เดือน รวมจำคุก ๔ ปี ความรับผิดอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง ให้ริบของกลาง และนับโทษต่อกับโทษจำเลยในคดีอื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และมาตรา ๕๒ (๑) จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้วโทษจำคุกจำเลยในความผิดอื่นจะนำมารวมอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) คงลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตสถานเดียว โดยไม่นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๐ ว่า จำเลยมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองและขว้างระเบิดใส่เพื่อฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังฟ้องหรือไม่ ส่วนฎีกาเพิ่มเติมของจำเลยลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๐ ยื่นเลยกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเพิ่มเติมไว้จึงไม่ชอบและศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบยังไม่มั่นคงพอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองและขว้างลูกระเบิดเพื่อฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยขว้างลูกระเบิดใส่เพื่อฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น สำหรับความผิดฐานมีลูกระเบิดไว้ในครอบครอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยมิได้อุทธรณ์ไว้ก็ตาม แต่เมื่อมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยขว้างลูกระเบิดเพื่อพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ และข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังว่าจำเลยมีลูกระเบิดเสียแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานความผิดมีลูกระเบิดไว้ในครอบครอง และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้นเสีย การนับโทษต่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์