แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยสั่งพนักงานการเงินของจำเลยคิดเงินเดือนที่ผ่านมาให้แก่โจทก์และเรียกโจทก์มารับเงินโจทก์เข้ามาในบริษัทแต่ไม่ยอมรับเงิน การที่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเรียกโจทก์มารับเงินค่าจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานของโจทก์ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่วันนั้นมิใช่วันจ่ายเงินเดือนตามปกติของจำเลยถือได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ได้ออกจากงานไปเอง และโจทก์ได้กล่าวต่อลูกค้าของจำเลยว่า บริษัทเฮงซวยไปซื้อสินค้ามันทำไมอันเป็นการกระทำความผิดต่อนายจ้าง ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ออกจากงานไปเองแล้วกลับอ้างว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้นประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ คดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ เพราะการที่จะเกิดประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดย โจทก์ไม่มีความผิดขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ได้ออกจากงานไปเองโดย ได้ขาดงานตั้งแต่วันที่16 ธันวาคม 2534 และระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โดย เจตนาทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2534 โจทก์ได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดย กล่าววาจาดูถูกเหยียดหยามจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกจ้างโจทก์ได้โดย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
1. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
2. จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่
3. โจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม 2534 โจทก์มานั่งอยู่ที่ร้านอาหารข้างบริษัทจำเลย ไม่ได้เข้าบริษัทจนเวลาประมาณ 10.30 นาฬิกา นางสาวสิริพรรณ เอื้ออำพน กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยสั่งให้นางสาวบุญศิริ พนักงานการเงินของจำเลยคิดเงินเดือนที่ผ่านมาให้แก่โจทก์และเรียกโจทก์มารับเงิน โจทก์เข้ามาในบริษัทแต่ไม่ยอมรับเงิน ดังนั้น การที่นางสาวสิริพรรณเรียกโจทก์มารับเงินค่าจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานของโจทก์ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่วันนั้นมิใช่วันจ่ายเงินเดือนตามปกติของจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เพราะในระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลยนั้น โจทก์ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยเจตนาจะให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย คือกล่าววาจาหมิ่นประมาทจำเลยแต่ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยข้อ 2.2ว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ได้ออกจากงานไปเองแล้วให้การในข้อ 2.4 ว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2534 โจทก์ได้กล่าวต่อลูกค้าของจำเลยว่า “บริษัทเฮงซวยไปซื้อสินค้ามันทำไม” อันเป็นการกระทำความผิดต่อนายจ้าง ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ จะเห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยในข้อ 2.2 และ2.4 ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ออกจากงานไปเองแล้วต่อมากลับอ้างว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ก็ย่อมจะไม่มีประเด็นอีกว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ เพราะการที่จะเกิดประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เสียก่อน การที่ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้ด้วยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์หรือไม่นั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน