คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2175/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขอ งด การบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 ได้นั้นจะต้องมีการบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามคำพิพากษาอยู่ก่อนแล้วในขณะที่ขอให้งดการบังคับคดี แต่เมื่อ ปรากฏว่าจำเลยได้ขอให้ศาลแรงงานกลางงดการบังคับคดีโดยที่ยังมิได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด ต้องถือว่าคดีนี้ยังไม่มีการบังคับคดี จำเลยจะขอให้งดการ บังคับคดีตามมาตรา 293 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง212,000 บาท แก่โจทก์ คดีถึงที่สุด แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับแล้ว จำเลยจึงยื่นคำร้องว่าจำเลยได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินจำนวน 481,124.97 บาท เพราะโจทก์เบิกเงินจากจำเลยไปโดยไม่มีสิทธิ หากจำเลยชนะคดีโจทก์จำเลยสามารถหักกลบลบหนี้กันได้ ทั้งการงดการบังคับคดีก็ไม่เสียหายแก่โจทก์ ขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อน
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ โจทก์จะฟ้องแย้งจำเลยเช่นกัน ในการจ่ายค่าจ้างนายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักไม่ได้ ขอให้ดำเนินการบังคับคดีไป
ศาลแรงงานกลางนัดพร้อมและมีคำสั่งว่า ในคดีนี้เป็นการบังคับเอาค่าจ้างค้างไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินเดือน ค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ต้องเป็นจำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเท่านั้นที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น เงินส่วนที่เหลือจากที่ศาลแรงงานกลางกำหนดแล้ว ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี จำเลยย่อมมีสิทธิของด การบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 เพื่อรอฟังผลคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางหากจำเลยชนะคดีโจทก์ ก็จะนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันนั้นเห็นว่า จำเลยของด การบังคับคดีโดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคหนึ่งซึ่งมีข้อความว่า “ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอทำเป็นคำร้องต่อศาลให้งดการบังคับคดีไว้ โดยเหตุที่ตนได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้น ซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด และถ้าหากตนเป็นฝ่ายชนะ จะไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนโดยวิธีอื่น เพราะสามารถจะหักกลบลบหนี้กันได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าการขอให้งดการบังคับคดี ในกรณีนี้ จะต้องมีการบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ก่อนแล้วในขณะที่ขอให้งดการบังคับคดี แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ขอให้ศาลแรงงานกลางงดการบังคับคดีโดยที่ยังมิได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น จึงต้องถือว่าคดีนี้ยังไม่มีการบังคับคดี จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า เงินเดือนค่าจ้าง ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ต้องเป็นจำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเท่านั้นที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีดังนั้นเงินส่วนที่เหลือจากที่ศาลแรงงานกลางกำหนดแล้วย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share