คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2175/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารเรียน โจทก์ใช้เหล็กเส้นผิดขนาดจากที่กำหนดไว้ในแบบในการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าว โจทก์จึงบันทึกข้อความไว้ว่ายอมให้จำเลยหักเงินเป็นค่าปรับตามจำนวนที่จำเลยกำหนดไว้ได้และจำเลยยินยอมให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยไม่ต้องรื้ออาคารที่ก่อสร้างไปแล้ว ดังนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมาทำความตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วซึ่งมีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ ปัญหาว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่หรือจำเลยเสียหายมากน้อยเพียงใด ย่อมเป็นอันยุติไปแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีเหตุที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาอีก
การที่โจทก์บันทึกไว้ว่ายินดีให้หักเงินจำนวน 119,412 บาทก่อนหมายความว่าโจทก์ยอมให้หักไว้ก่อนตามจำนวนดังกล่าว โดยโจทก์ยินดีรับไปเฉพาะส่วนที่เหลือจากหักแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างอาคารโรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา ในราคา 1,200,000 บาท โดยสัญญาแบ่งจ่ายค่าจ้างเป็น 5 งวด โจทก์ทำงานงวดที่ 1 เสร็จเรียบร้อย คณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยบันทึกว่า โจทก์ทำงานงวดที่ 1 เสร็จ แต่ใช้เหล็กมีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดไว้ในแบบเล็กน้อยเพียง 0.4 – 0.5 มม. ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ควรเบิกจ่ายเงินให้โจทก์ไปได้ตามงวด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ดำเนินการสร้างต่อไป แต่จำเลยหักไว้เป็นเงิน 119,412 บาท ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ที่ถูกจำเลยควรหักไว้เพียง 3,852 บาทจำเลยหักไว้เกินไป 115,560 บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงิน 115,560 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำการก่อสร้างผิดแบบรูปและรายการหลายประการและตรวจพบว่าโจทก์ใช้เหล็กผิดขนาด ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจึงปรับโจทก์เป็นเงิน 115,560 บาท โดยคิดค่าปรับ 30 เท่าของราคาเหล็กที่ขาดไปโจทก์โดยนายอุทัยได้รับทราบและตกลงให้จำเลยหักเงินดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันใหม่ในเรื่องความเสียหายมีผลใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่จำเลยหักไว้คืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 115,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 77,040 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารเรียนขนาด10 ห้องเรียนแบบ 216 ก. ของโรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษาตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 28 กันยายน 2520 และโจทก์ได้ใช้เหล็กเส้นผิดขนาดจากที่กำหนดไว้ในแบบ เป็นเหตุให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องนี้ขึ้น และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปรากฏตามรายงานการประชุมหมาย จ.16 ซึ่งโจทก์อ้างส่ง ที่ประชุมของผู้แทนกองออกแบบและก่อสร้าง กองการเจ้าหน้าที่กองการมัธยมศึกษา และกองคลัง โดยมีรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหานี้ โดยมีมติรวม 4 ข้อ คือ

1. เมื่อการก่อสร้างล่วงเลยมาจนถึงงวดที่ 2 หมดงานคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วไม่อาจแก้ไขอย่างใดได้ หากจะแก้ไขก็ต้องรื้ออาคารทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายจึงเห็นควรให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป

2. วิศวกรของกรมฯ รับรองว่า อาคารหลังนี้ความมั่นคงอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้และการเสริมเหล็กตามที่คณะกรรมการฯ สั่งนั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชา

3. ให้คิดราคาค่าวัสดุก่อสร้างที่ขาดไปคืนดังนี้

3.1 ราคาเหล็กเต็มกิโลกรัมละ 7 บาท ราคาเหล็กท้องตลาดกิโลกรัมละ 6.40 บาทเหล็กที่ใช้ทั้งหมด 6.420 กิโลกรัม ฉะนั้นราคาของเหล็กที่ต่างกัน 3,852 บาท

เนื่องจากการก่อสร้างอาคารหลังนี้ใช้เหล็กไม่เต็มเห็นควรปรับความผิดของผู้รับจ้าง เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับการก่อสร้างรายอื่นเกี่ยวกับความผิดพลาดทำนองนี้อีก จึงควรปรับ 30 เท่าของราคาเหล็กที่ขาดไปเท่ากับ 3,852 x 30 เท่ากับ 115,560 บาท รวมเป็นเงินที่จะต้องหักคืนเท่ากับ 115,560 + 3,852 = 119,412 บาท

4. ให้ยืดเวลาค้ำประกันเฉพาะเรื่องโครงสร้างจากสัญญา 1 ปี เป็น 5 ปี

มติ 4 ข้อของที่ประชุมดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินการตามมตินี้ได้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20

นายอุทัย แซ่ซื่อ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ได้บันทึกการตกลงยินยอมของตนไว้ในรายงานการประชุมหมาย จ.16 นั้นมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าฯ รับทราบบันทึกของกรรมการและยินดีให้หักเงินจำนวน 119,412 บาท ก่อน” แล้วลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับลงวันที่กำกับไว้ว่า 27 ก.พ. 21

ข้อความที่บันทึกไว้นี้ เป็นการแสดงเจตนายอมให้จำเลยหักเงินจำนวน119,412 บาทไว้ได้ ซึ่งมีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินจำนวน119,412 บาท ไว้ได้ตามสัญญานั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วนนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะกรณีไม่ใช่เป็นเรื่องเบี้ยปรับที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตามมาตรา 379 แต่เป็นเรื่องคู่กรณีมาทำความตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งเกิดขึ้นแล้วโดยวิธีที่ไม่ต้องให้โจทก์รื้ออาคารที่สร้างไปแล้ว แต่โจทก์ต้องชดใช้เงินให้จำเลยเป็นเงิน 119,412 บาท ดังกล่าวแล้ว

ข้อความในมติข้อ 3.2 ของคณะกรรมการนั้นมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่าจำเลยจะต้องหักเงินคืนจากโจทก์ไว้รวมเป็นเงิน 119,412 บาท การที่โจทก์บันทึกไว้ว่ายินดีให้หักเงินจำนวน 119,412 บาทก่อนย่อมหมายความว่าโจทก์ยอมให้หักไว้ก่อน119,412 บาท โดยโจทก์ยินดีรับไปเฉพาะส่วนที่เหลือจากหักแล้วนั่นเอง หาได้หมายความว่าโจทก์ยอมให้หักเพียง 3,852 บาทไม่ ตามฟ้องของโจทก์ก็ยกข้ออ้างมาเพียงว่านายอุทัย แซ่ซื่อ ได้ทำบันทึกให้

ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ใช้เหล็กผิดขนาดในแบบไปเพียงเล็กน้อยโดยคลาดเคลื่อนเพียง 0.4 – 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งตามรายการวิศวกรรมก็อนุญาตให้คลาดเคลื่อนเช่นนั้นได้ โจทก์จึงไม่ผิดสัญญาและจำเลยก็ไม่ได้เสียหายอะไรนั้นศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่ก็ดี จำเลยเสียหายมากน้อยเพียงใดก็ดี เป็นเรื่องที่ยุติไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยแล้วเมื่อโจทก์ได้ตกลงระงับข้อพิพาทเรื่องการใช้เหล็กผิดขนาดกับจำเลยโดยวิธียอมให้จำเลยหักเงินไว้ได้ 119,412 บาทแล้ว โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น โดยไม่มีเหตุที่จะรื้อฟื้นปัญหาเรื่องโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่หรือจำเลยเสียหายเพียงไรหรือไม่ขึ้นมาพิจารณาอีก

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share