คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2171/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า อาวุธปืนของกลางที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดที่ ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนกระบอกนี้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.อ. มาตรา 32 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ริบเสียทั้งสิ้น
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2554)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนอาวุธปืน ซองกระสุนปืน ซองปืนผ้าใบสีดำของกลาง และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 500 บาท ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองกระสุนปืน ซองปืนผ้าใบสีดำของกลาง และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 500 บาท ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 แต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลาง 500 บาท แก่เจ้าของจำหน่ายคดี สำหรับคำขอให้ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน และซองปืนผ้าใบสีดำของกลางด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจโทสมหมาย เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการมีส่วนร่วมกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดปฏิบัติการประชุมวางแผนกันแล้ว พันตำรวจโทดุริยะได้มอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อซึ่งเป็นธนบัตรฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ ที่นำหมายเลขธนบัตรไปลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้แล้วให้แก่พยาน พยานมอบธนบัตรดังกล่าวให้แก่สายลับ จากนั้นสายลับขับรถจักรยานยนต์ให้พยานนั่งซ้อนท้ายไปที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อไปถึงบริเวณหน้าบ้านจำเลยที่ 1 สายลับจอดรถจักรยานยนต์ห่างจากหน้าบ้านประมาณ 4 ถึง 5 เมตร แล้วลงจากรถจักรยานยนต์ไปติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ส่วนพยานยังคงนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ แต่ระหว่างนั้นบางครั้งพยานก็ลงจากรถไปสูบบุหรี่ ทำทีเหมือนคนไปรอซื้อของด้วย พยานสังเกตเห็นสายลับเข้าไปพูดคุยกับจำเลยที่ 1 สักครู่ก็ส่งมอบธนบัตรให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ส่งมอบธนบัตรต่อให้จำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 นำธนบัตรไปส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในบ้าน จำเลยที่ 2 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 3 นำไปให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จึงนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้สายลับ เมื่อสายลับได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 แล้ว สายลับก็นำมาส่งมอบให้พยาน พยานตรวจดูแล้วเห็นว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนลักษณะเม็ดสีส้มห่อด้วยพลาสติก จึงกดสัญญาณวิทยุสื่อสารแจ้งให้พันตำรวจโทสหรัฐ กับพวกซึ่งซุ่มรออยู่ที่ป้อมยามตำรวจห้วยทรายทองทราบ หลังจากนั้นไม่นานพันตำรวจโทสหรัฐกับพวกก็พากันนำหมายค้นไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสาม ดังนี้ เห็นว่า การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดอาญาร้ายแรง ซึ่งโดยวิสัยของคนร้ายจะต้องพยายามปกปิดการกระทำของตนเพื่อไม่ให้คนอื่นมีโอกาสรู้เห็น จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสามจะกระทำการส่งมอบเงินที่สายลับใช้ล่อซื้อและเมทแอมเฟตามีนให้แก่กันเป็นทอด ๆ และอย่างโจ่งแจ้งต่อหน้าสิบตำรวจโทสมหมายดังที่สิบตำรวจโทสมหมายเบิกความ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยว่า คำเบิกความของสิบตำรวจโทสมหมายที่อ้างว่าเห็นการส่งมอบธนบัตรและเมทแอมเฟตามีนที่มีการกระทำเป็นทอด ๆ โดยการแสดงออกที่ชัดเจนเกินไปเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการแบ่งหน้าที่กันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับด้วยไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง คำเบิกความของพยานปากนี้ยังไม่ประกอบชอบด้วยเหตุผล ยิ่งไปกว่านั้น หากสิบตำรวจโทสมหมายเห็นจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจริงอย่างชัดแจ้งเช่นนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดซึ่งหน้าที่ได้กระทำต่อหน้าสิบตำรวจโทสมหมายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สิบตำรวจโทสมหมายย่อมมีอำนาจจับจำเลยทั้งสามได้ทันทีโดยไม่จำต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 แต่สิบตำรวจโทสมหมายก็หาได้กระทำไม่ กลับกดสัญญาณวิทยุสื่อสารแจ้งให้พันตำรวจโทสหรัฐกับพวกที่ซุ่มรออยู่นำหมายค้นของศาลไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสามอีก จึงเป็นการขัดต่อเหตุผล ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือว่าจะมีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้จากจำเลยทั้งสามจริง ข้อพิรุธที่สำคัญยิ่งในคดีนี้อีกประการหนึ่ง คือ ตามคำพยานโจทก์ที่นำสืบต่อศาล คือ พันตำรวจโทดุริยะ สิบตำรวจโทสมหมาย จ่าสิบตำรวจโกงการณ์ และสิบตำรวจโทพยุง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดปฏิบัติที่ร่วมกันวางแผนและปฏิบัติการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม ต่างเบิกความรับรองรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและบันทึกการตรวจค้นจับกุม ได้ความตรงกันว่า พยานโจทก์ชุดปฏิบัติการดังกล่าวได้ร่วมกันนำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงบันทึกในรายงานประจำวันและมอบธนบัตรฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ ให้สายลับไปใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน กับตรวจค้นยึดของกลางและจับกุมจำเลยทั้งสามในวันที่ 21 กันยายน 2543 แต่บันทึกข้อความที่สิบตำรวจโทสมหมายรายงานต่อหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ มีข้อความระบุว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์เป็นขบวนการค้าเมทแอมเฟตามีนนั้น กลับลงวันที่ 23 กันยายน 2543 อันเป็นวันภายหลังการตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสาม ซึ่งตามข้อนี้ แม้สิบตำรวจโทสมหมายจะเบิกความว่าเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดพิมพ์ผิดพลาดก็ตาม แต่ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารแล้ว ปรากฏว่ามีข้อความเกษียนสั่งไว้ตอนล่างของพันตำรวจโทดุริยะว่า “ทราบ จะได้ขอหมายค้นที่ศาลภูเขียว เข้าตรวจค้นจับกุม ส.ต.ท.สมหมายนำเงินไปล่อซื้อกับสายลับ โดยจะประชุมวางแผนกันเข้าจับกุมในวันที่ 24 ก.ย. 43 ให้ประสาน ตร.สภ.อ. คอนสาร และ สภ.อ.ภูผาม่าน จว. ขอนแก่น เข้าร่วมสืบสวนจับกุมด้วย” โดยพันตำรวจโทดุริยะลงวันที่เกษียนสั่งไว้ด้วยว่า “23 ก.ย. 43” ซึ่งจะเห็นว่าพันตำรวจโทดุริยะลงวันที่เกษียนสั่ง วันที่ 23 กันยายน 2543 อันเป็นวันที่เดียวกันกับบันทึกข้อความนั้นเอง และพันตำรวจโทดุริยะได้เขียนวันที่ด้วยลายมือของพันตำรวจโทดุริยะเองด้วย หาใช่เป็นการพิมพ์ของเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดไม่ บันทึกข้อความจึงมีเนื้อหาที่เป็นลำดับเหตุการณ์ในเอกสารสอดคล้องตรงกัน มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าบันทึกข้อความของสิบตำรวจโทสมหมายฉบับนี้ที่ได้ลงวันที่ 23 กันยายน 2543 ไว้นั้น เป็นการพิมพ์ลงวันที่ไว้ถูกต้องตรงความเป็นจริงแล้ว หาใช่ว่าเป็นการพิมพ์วันที่ผิดพลาดดังที่สิบตำรวจโทสมหมายพยายามเบิกความบ่ายเบี่ยงเลี่ยงละความจริงไม่ และพยานเอกสารฉบับนี้ยิ่งมีผลทำให้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบต่อศาลมีข้อพิรุธน่าสงสัยมากยิ่งขึ้นว่า แท้จริงแล้วในวันที่ 21 กันยายน 2543 ที่ไปทำการตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 ตามหมายค้นของศาลนั้นจะมีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสามในวันดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 3 จะได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด ของกลาง ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อจริงตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และโทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 คำขอใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นอันสิ้นสภาพไปด้วย จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับคำขอให้ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนและซองปืนผ้าใบสีดำของกลางด้วยนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สำหรับอาวุธปืนและซองกระสุนปืนของกลางนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า อาวุธปืนของกลางไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ และซองกระสุนปืนถือเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 1 (4) จึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนกระบอกนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ริบเสียทั้งสิ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับคำขอให้ริบอาวุธปืนและซองกระสุนปืนของกลางด้วย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย ส่วนซองปืนผ้าใบสีดำของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดที่จะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ริบซองปืนผ้าใบสีดำของกลาง จึงชอบแล้วและเห็นควรให้คืนแก่เจ้าของ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบอาวุธปืนและซองกระสุนปืนของกลางด้วย แต่ให้คืนซองปืนผ้าใบสีดำของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share