แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ส. และ ข. ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยโดยให้จดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยในฐานะส่วนตัว และเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยเป็นการเฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้โดยลำพัง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน คู่ความตีราคาทรัพย์พิพาทตามคำขอท้ายฟ้อง 210,000 บาท ฉะนั้นทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนจึงคิดเป็นเงินเพียง 52,500 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้รับรองให้ฎีกา ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาตามมาตรา 248 วรรคสี่ แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาว่าจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ก่อนแล้วจึงมีคำสั่งว่าจะรับฎีกาหรือไม่ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีสั่งยกคำร้องและสั่งรับฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องและสั่งรับฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ มาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15575 (แปลงคงเหลือ), 78443, 78444, 78445 ระหว่างจำเลยกับนายปฏิการณ์ ว่าที่ร้อยตรีวิรัตน์ นายชัชณกรณ์ นายชิมิน และเพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 56 หน้า 192 หมู่ที่ 12 หรือโฉนดที่ดินเลขที่ 80603 ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาททั้งหมดดังกล่าวออกเป็นสี่ส่วน และแบ่งให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกนายปฏิการณ์ ว่าที่ร้อยตรีวิรัตน์ นายชัชณกรณ์ และนายชิมิน เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกจำเลยร่วมดังกล่าวว่า จำเลยร่วมที่ 1 ถึงจำเลยร่วมที่ 4 ตามลำดับ
จำเลยร่วมทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15575 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุข กับจำเลย ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15575 (แปลงคงเหลือ), 78443, 78444, 78445 ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่แต่ละรายซึ่งจดทะเบียนวันที่ 22 สิงหาคม 2544 และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 56 หน้า 192 หมู่ที่ 12 หรือโฉนดเลขที่ 80603 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุข กับจำเลยแล้วให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งหมดที่เพิกถอนออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุข แบ่งให้โจทก์ทั้งสอง คนละ 1 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 คนละ 1 ส่วน กับให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ฎีกาพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี สั่งคำร้องว่าทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับแล้วมีคำสั่งรับฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายสุข และนางสิ ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยโดยให้จดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยในฐานะส่วนตัว และเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยเป็นการเฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้โดยลำพัง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกันคู่ความตีราคาทรัพย์พิพาทตามคำขอท้ายฟ้อง 210,000 บาท ฉะนั้นทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนจึงคิดเป็นเงินเพียง 52,500 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้รับรองให้ฎีกาทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาตามมาตรา 248 วรรคสี่ แล้วศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาว่าจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ก่อนแล้วจึงมีคำสั่งว่าจะรับฎีกาหรือไม่ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีสั่งยกคำร้องและสั่งรับฎีกาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องและสั่งรับฎีกาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ที่ขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงกับยกคำสั่งรับฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอดังกล่าวไปให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาว่าจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ก่อน แล้วจึงดำเนินการมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ต่อไป