คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170-2190/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การให้เช่าทรัพย์นั้นผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า
เมื่อจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ และได้รับประโยชน์ในแผงที่เช่าตามสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำแผงพิพาทมาให้จำเลยเช่าโดยไม่มีอำนาจอย่างไรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ให้เช่าตามสัญญา และจำเลยจะต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้นจำเลยจะโต้เถียงอำนาจโจทก์ว่าไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในแผงพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง ๒๑ สำนวนฟ้องมีใจความเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจำเลยทั้ง ๒๑ สำนวนได้ทำหนังสือเช่าแผงพิพาทจากโจทก์เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบการค้าขาย (ค่าเช่าเดือนละ ๓๐ บาทบ้าง ๒๔๐ บาทบ้าง ๖๐ บาทบ้าง) สัญญาเช่า ๑๙ รายสิ้นสุดแล้ว อีกสองรายประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยอยู่เรื่อยมาเป็นการละเมิด ขอให้พิพากษาขับไล่และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทุกสำนวนให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าแผงตามฟ้องจากโจทก์แผงดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นแผงที่ปลูกอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ และเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าเป็นโจทก์ร่วม และโจทก์ไม่ได้เป็นตัวแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ห้างโจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างแผงพิพาท จำเลยทำสัญญาเช่าแผงพิพาทกับห้างโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากแผงพิพาท และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง ๒๑ สำนวนได้ทำสัญญาเช่าแผงตามฟ้องจากโจทก์ สัญญาเช่าสิ้นสุดอายุแล้ว สองรายประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์บอกเลิกแล้ว แล้ววินิจฉัยว่าการให้เช่าทรัพย์นั้นผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า ฉะนั้น เมื่อจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์และได้รับประโยชน์ในแผงที่เช่าตามสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำแผงพิพาทมาให้จำเลยเช่าโดยไม่มีอำนาจอย่างไรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ให้เช่าตามสัญญา และจำเลยต้องผู้พันตามสัญญาเช่านั้นกับโจทก์ ดังนั้น จำเลยจะโต้เถียงอำนาจโจทก์ว่าไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในแผงพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ เมื่อการเช่าสิ้นสุดแล้วเพราะหมดอายุสัญญาเช่า และจำเลยบางคนผิดสัญญาเช่า ซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้การที่จำเลยอยู่ต่อมาได้ชื่อว่าอยู่โดยละเมิดสิทธิโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share