แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันโดยศาลตั้ง.ผู้ร้องร้องต่อศาลขอให้ศาลชี้ขาดว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นทรัพย์มรดก. ผู้คัดค้านค้านว่าเป็นทรัพย์ของ ส. บิดาของตน. ดังนี้ การโต้แย้งของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส.. จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งกันโดยเฉพาะระหว่างผู้จัดการมรดกร่วมกัน. ผู้ร้องจะขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในคดีขอตั้งผู้จัดการว่าทรัพย์สิ่งใดเป็นทรัพย์ของกองมรดกไม่ได้. เมื่อผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิของกองมรดก ผู้ร้องก็ชอบที่จะฟ้องร้องได้ตามสิทธิของผู้ร้อง. (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2512).
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นตั้งนางสงวนผู้ร้องและนางสาววัลลีย์ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของนางท้อร่วมกัน ต่อมาผู้ร้องร้องต่อศาลขอให้ศาลชี้ขาดว่าที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอันดับ 1 เป็นทรัพย์มรดกของนางท้อ โดยที่นางสาววัลลีย์ผู้จัดการร่วมกันค้านว่าเป็นทรัพย์ของนายสง่าบิดาของตน ศาลชั้นต้นสั่งให้ไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง และให้ผู้ร้องมีอำนาจยื่นฟ้องภายใน 1 เดือน ผู้ร้องร้องขอให้ศาลชั้นต้นอธิบายคำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งว่านางสาววัลลีย์ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจะจัดการเกี่ยวกับมรดก จะสั่งให้ทายาทของนายสง่าซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีเป็นผู้ฟ้องไม่ได้ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชมาตรา 1726 พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เป็นเรื่องที่มีการโต้แย้งว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำร้องอันดับ 1 เป็นทรัพย์มรดก หรือเป็นของนายสง่าซึ่งตกทอดมายังนางสาววัลลีย์ การโต้แย้งของนางสาววัลลีย์หาใช่เป็นการโต้แย้งเฉพาะในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมไม่ หากเป็นการโต้แย้งในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากนายสง่า จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งกันโดยเฉพาะระหว่างผู้จัดการมรดกร่วมตามคำร้องของผู้ร้อง หาใช่ผู้ร้องมีความประสงค์เพียงจะให้ใส่ที่ดินที่มีข้อโต้แย้งกันลงในบัญชีทรัพย์มรดกเท่านั้นไม่ หากผู้ร้องได้ขอให้ศาลชี้ขาดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ซึ่งในการที่จะชี้ขาดได้ตามคำร้องของผู้ร้อง ศาลก็ต้องทำการไต่สวนฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้าน แล้วจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดไปในทางหนึ่งทางใดได้ ซึ่งศาลจำต้องชี้ขาดเรื่องกรรมสิทธิ์และกรณีดังกล่าวก็จะเป็นการชี้ขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างกองมรดกของนางท้อหรือขุนท้อ กินโอธาน กับนางสาววัลลีย์ ในฐานะผู้รับมรดกของนายสง่ากิจโอธาน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีมติว่า ผู้ร้องจะขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกว่าทรัพย์สิ่งใดเป็นทรัพย์ของกองมรดกไม่ได้ ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว หากผู้ร้องมีความประสงค์จะยื่นฟ้องนางสาววัลลีย์ กิจโอธาน เนื่องจากนางสาววัลลีย์ กิจโอธาน โต้แย้งสิทธิของกองมรดก ผู้ร้องก็ชอบที่จะฟ้องร้องได้ตามสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้อง และในกรณีนี้ ศาลชั้นต้นก็ได้กล่าวรับรองสิทธิของผู้ร้องไว้แล้ว พิพากษายืน.