คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 มาตรา 26 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 67 และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตามกฎหมายเดิมมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม แม้ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะได้กำหนดให้มีโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแต่กต่างจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด เป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ กรณีโทษจำคุกจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้
ส่วนกำหนดโทษนั้น ตามกฎหมายเดิมมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษจำคุกเท่ากันและตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 และริบของกลาง บวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2072/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 7 ปี คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เฉพาะในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 8 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2072/2540 เข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุก 7 ปี 14 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ลงโทษจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและบวกโทษจำคุก 6 เดือนแล้วเป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี 2 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า แม้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีพิษภัยร้ายแรงนอกจากจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของผู้เสพเองแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมหลายประเภททั้งผู้เสพที่มีการมึนเมา เมทแอมเฟตามีนยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายผู้อื่นได้โดยง่าย แต่การที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยในความผิดฐานเสพแมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 55 เม็ด น้ำหนัก 4.78 กรัม จำคุก 5 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่หนักเกินไป และเนื่องจากในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 มาตรา 26 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 67 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่ ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตามกฎหมายเดิมมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม แม้ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะได้กำหนดให้มีโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ กรณีโทษจำคุกจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ตามมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) ลงโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 4 ปี ลดโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงลงโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2072/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้รวมลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 4 ปี 10 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share