แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด ต่อเนื่องมาจากความในวรรคหนึ่งที่ว่าเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งซึ่งเป็นการเปิดโอกาสหรือให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวอีกชั้นหนึ่งแต่หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว แสดงว่านายจ้างหรือลูกจ้างไม่มีข้อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ความในวรรคสองจึงบัญญัติให้เป็นที่สุด ซึ่งหมายถึงเป็นที่สุดสำหรับนายจ้างหรือลูกจ้างด้วย มิใช่เป็นที่สุดเฉพาะในทางบริหาร
เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม จะโต้แย้งหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้อีกไม่ได้ กรณีมิใช่เรื่องการนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง มาตัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายโดยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้างานกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แจ้งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างแต่ไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 16/2545 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองที่ศาลแรงงานกลางต่อศาลล้มละลายกลางและได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าชดเชย 780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองแถลงรับว่า จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์แล้ว และมิได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลแรงงานกลางเห็นว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวจึงงดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดแล้วจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ตามกฎหมาย จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางให้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองได้ และคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามชอบหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่ากรณีที่คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดตามความในมาตรา 125 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมายถึงเป็นที่สุดเฉพาะในทางบริหารเท่านั้น ไม่อาจนำมาเป็นข้อจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีได้นั้น เห็นว่า ความในมาตรา 125 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุดนั้น ต่อเนื่องมาจากความในวรรคหนึ่งที่ว่าเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสหรือให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง แต่หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว แสดงว่านายจ้างหรือลูกจ้างไม่มีข้อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวความในวรรคสองจึงบัญญัติให้เป็นที่สุด จึงหมายถึงเป็นที่สุดสำหรับนายจ้างหรือลูกจ้างด้วย มิใช่เป็นที่สุดเฉพาะในทางบริหารดังจำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อไปว่า บทบัญญัติในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นบทบังคับแก่ผู้ที่นำคดีมาสู่ศาลซึ่งต้องปฏิบัติหรือดำเนินการก่อนจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่ศาลแรงงานกลางกลับนำบทบัญญัติดังกล่าวมาตัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้หรือตีความกฎหมายโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม จึงเป็นปริยายว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจโต้แย้งหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้อีกได้ กรณีมิใช่เรื่องการนำบทบัญญัติแห่งมาตรา 8 วรรคสองมาตัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายโดยไม่ชอบดังจำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าชดเชยต่อโจทก์แต่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง