แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ถูกทำละเมิดซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880และย่อมมีสิทธิเสมอเหมือนกับผู้เอาประกันภัยในอันจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้ชำระไปนั้นจากบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่ทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.จ.03747 ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับประกันภัย ในวงเงิน 50,000 บาท และให้โจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบในความเสียหาย 500 บาทแรกของอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.04621 ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2513 เวลาประมาณ 4นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.04621ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทคือขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมเองในความเสียหาย 500 บาทแรก และโจทก์ที่ 2 ซึ่งรับประกันภัยได้จ่ายค่าซ่อมไปอีกเป็นเงิน 13,810 บาท โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนนี้ นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังเสียหายขาดรายได้จากการใช้รถยนต์ประกอบกิจการค้าในระหว่างซ่อมรถ 60 วัน เป็นเงิน18,000 บาท รถของโจทก์ที่ 1 เสื่อมราคาไปเป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 28,500 บาทและแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 13,810 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 3นั้น โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของและครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.จ.03747 และไม่ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1จะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นเจ้าของรถหมายเลขทะเบียน น.ฐ.04621 หรือไม่ จำเลยที่ 4 ไม่รับรอง โจทก์ไม่เคยทวงถามค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดเพราะความประมาทของลูกจ้างขับรถของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 โจทก์เสียหายค่าซ่อมไม่เกิน 3,000 บาทโจทก์ที่ 1 ขาดรายได้ไม่เกินวันละ 50 บาท และใช้เวลาซ่อมรถไม่เกิน 7 วันรถโจทก์เก่าเมื่อซ่อมให้ดีแล้วจึงไม่เสื่อมราคาอีก หากเสื่อมราคาก็ไม่เกิน 1,000บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัย และเป็นบุคคลภายนอกผู้มิได้กระทำให้เกิดความวินาศภัย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนรถยนต์โจทก์ที่ 1 เสียหายพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงิน 18,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่ชนะคดี และค่าทนายความ500 บาทแทนโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 13,810 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ 400 บาทแทนโจทก์ที่ 2 ด้วย ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 หากรับผิดก็ไม่เกิน 4,000 บาท
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งได้ใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยแทนโจทก์ที่ 1 มีสิทธิรับช่วงสิทธิและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ซึ่งรับประกันภัยค้ำจุนได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้ เป็นว่าให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เงิน 13,810 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้ใช้แทนรวมเป็นเงิน 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเอาประกันวินาศภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 2 ได้เสียค่าซ่อมรถของโจทก์ที่ 1 แล้ว เป็นเงิน13,810 บาท และจำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไว้
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 4 ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ที่ 2จะเข้ารับช่วงสิทธิโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้ก่อให้เกิดความวินาศภัยขึ้นไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ตามจำนวนที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 และมาตรา 226 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเรื่องรับช่วงสิทธิบัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ฯลฯ” เมื่อโจทก์ที่ 1 ผู้ต้องเสียหายจากความวินาศภัยมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้โดยตรงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 887 วรรคสอง แล้ว เช่นนี้ เห็นได้ว่าโจทก์ที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ก็ย่อมต้องมีสิทธิเสมอเหมือนกับโจทก์ที่ 1ที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ตนชำระไปจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ดุจเดียวกัน ฎีกาจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน