แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องว่าพยายามชิงทรัพย์ ศาลลงโทษฐานพยายามลักทรัพย์ได้
พยายามลักทรัพย์ ก็เป็นการลงมือกระทำการลักทรัพย์อันเป็นเหตุร้ายจึงลงโทษกักกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2493 เวลากลางวันจำเลยได้พยายามชิงทรัพย์เงิน 3 บาทของนายชวน ศิริวงศ์ โดยใช้มือล้วงกระเป๋ากางเกงของนายชวน หากแต่นายชวนรู้สึกตัวเสียก่อนจึงจับมือจำเลยไว้ เป็นเหตุให้จำเลยทำการไม่สำเร็จ จำเลยได้ขู่เข็ญจะทำร้ายนายชวนในขณะที่นายชวนจับมือจำเลยนั้น เพื่อปกปิดการกระทำผิดหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดเหตุเกิดที่ตำบลวังบูรพา อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร จำเลยเคยต้องโทษมาแล้วหลายครั้ง และเฉพาะโทษครั้งที่ 5 พ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปี จึงขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 298, 60, 72 และขอให้ลงโทษกักกันตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 6, 8, 9 ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนข้อที่เคยต้องโทษและพ้นโทษรับว่าจริงตามใบแดงแจ้งโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ในวันเกิดเหตุนายชวนโดยสารรถยนต์ 2แถวมาจากท่าช้าง จำเลยก็ขึ้นมาด้วยครั้นรถเลี้ยวมาถนนเจริญกรุง จำเลยก็ล้วงกระเป๋ากางเกงซึ่งมีเงินอยู่ 3 บาทนายชวนรู้สึกจับมือจำเลยได้และต่อว่าจำเลย ในที่สุดจำเลยลงจากรถวิ่งหนีไปขึ้นรถ 3 ล้อ และไปถูกพลตำรวจจราจรจับตัวได้ที่ป้อมตำรวจหน้าวัดสุทัศน์การกระทำของจำเลยเป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ ส่วนข้อที่ว่าจำเลยขู่เข็ญจะทำร้ายฟังไม่ได้แน่ชัด พิพากษาให้จำคุกจำเลย 2 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288 และ 60 เพิ่มโทษตามมาตรา 72 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อพ้นโทษแล้วให้ส่งตัวไปกักกันตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 6, 8, 9 อีก 5 ปี นับโทษจำเลยต่อจากคดีแดงที่ 147/2487 ของศาลทหาร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหากฎหมายว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามชิงทรัพย์ ศาลลงโทษฐานพยายามลักทรัพย์ไม่ได้ กับความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ไม่ใช่เหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกัน ลงโทษกักกันไม่ได้
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์และตรวจปรึกษาสำนวนนี้แล้วปัญหาข้อแรกนั้นเห็นว่า กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 298 ที่โจทก์ฟ้องบัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์ด้วยใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายเขา เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งนี้คือ (1) เพื่อประโยชน์ที่จะตระเตรียมการหรือให้เป็นความสะดวกในการที่มันจะลักทรัพย์ก็ดี ฯลฯ” ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นประกอบด้วยองค์สำคัญ 2 ประการ คือ 1. ลักทรัพย์ 2. ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายเขา ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามชิงทรัพย์ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทำผิดเพียงฐานพยายามลักทรัพย์ ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหากฎหมายข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อหลังการพยายามกระทำความผิดนั้นกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 60 บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิด แต่หากมีเหตุอันพ้นวิสัยของมันจะป้องกันได้มาขัดขวางมิให้กระทำลงได้ไซร้ ท่านว่ามันควรรับอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นแบ่งเป็นสามส่วนให้ลงอาญาแต่สองส่วน” พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 บัญญัติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเหตุร้ายและศาลได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยได้พยายามทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์กล่าวคือจำเลยได้ลงมือกระทำการลักทรัพย์แล้ว แต่หากมีเหตุอันพ้นวิสัยของจำเลยจะป้องกันได้มาขัดขวางเสีย จึงลักทรัพย์ไม่สำเร็จเช่นนี้ ก็ต้องฟังว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นเหตุร้ายนั้นเอง ศาลลงโทษกักกันได้ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 831/2485 ระหว่างพนักงานอัยการกรมอัยการโจทก์ นายแสวง พลทะจักรกับพวกจำเลย ปัญหากฎหมายข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
คงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย