คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ประกอบธุรกิจจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ (ReadyMixedConcrete) เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อ โจทก์ที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ส่งคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่ลูกค้าโดยใช้รถยนต์บรรทุกที่มีเครื่องผสมคอนกรีตในตัว ทำการผสมคอนกรีตตามอัตราส่วนหรือสูตร ที่ลูกค้ากำหนด แล้วนำไปเทยังหน่วยงานที่ลูกค้ากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับลูกค้า ต่างมีเจตนาให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์หรือคอนกรีตผสมเสร็จ เพื่อตอบแทนการใช้ราคาอันเข้าลักษณะของสัญญาซื้อขายคู่สัญญามิได้หวังผลสำเร็จในการงานเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทรับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร.

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีรายได้บำรุงเทศบาล จำนวน85,908,292.50 บาทนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าพนักงานประเมินได้นำรายรับที่โจทก์ได้จากการขายคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mixed Concrete)สำหรับระยะเวลาเดือนมิถุนายน 2520 ถึงธันวาคม 2524 โดยถือว่าเป็นรายรับประเภทการค้ารับจ้างทำของ ซึ่งความจริงโจทก์ซื้อคอนกรีตผสมเสร็จมาจากบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างและวัตถุก่อสร้างจำกัด แล้วขายให้ลูกค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากจำนวนเงินราคาคอนกรีตผสมเสร็จที่ได้รับในรอบระยะเวลาดังกล่าว เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเลขที่ ต.5/1020/3/02174-02178ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2525 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ 316 ก.ข.ค.ง. และจ./2526 ลงวันที่ 28 กันยายน 2516
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะโจทก์เป็นผู้รับจ้างผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ รายได้ของโจทก์จึงเป็นรายได้จากการรับจ้างทำของจะต้องเสียภาษีการค้า ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2ขอให้ยกฟ้องโจทก์
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และได้เสียภาษีการค้าและภาษีรายได้บำรุงเทศบาลไว้ถูกต้องแล้ว โจทก์มิได้รับจ้างทำของ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้ประเภทรับจ้างทำของการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่ม รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มไม่ชอบขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การทำนองเดียวกับสำนวนก่อน โดยขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบริษัทในเครือของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1ได้ทำรายการราคาคอนกรีตผสมเสร็จตามสูตรต่าง ๆ แจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ที่ 1 ทราบ เมื่อลูกค้าต้องการคอนกรีตผสมเสร็จสูตรใดเพื่อจะใช้ในการก่อสร้างก็จะสั่งมาที่โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 จะสั่งให้โจทก์ที่ 2 ทำการผสมคอนกรีตผสมเสร็จโดยเอาปูนซิเมนต์ ทราย หินและน้ำ ตามอัตราส่วนของแต่ละสูตรตามที่ลูกค้าต้องการใส่ลงไปในรถที่มีเครื่องผสมอยู่แล้วนำรถนั้นไปยังสถานที่ก่อสร้าง เทคอนกรีตผสมเสร็จลงในที่ที่ลูกค้าต้องการ เมื่อแห้งแล้วจะมีการทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีตถ้าได้ความแข็งแรงไม่ตรงตามที่ตกลง โจทก์ที่ 2 จะต้องทุบทำลายคอนกรีตนั้นออก แล้วผสมและเทใหม่จนกว่าจะได้ความแข็งแรงตามที่ตกลง เสร็จแล้วลูกค้าจะชำระค่าคอนกรีตผสมเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 จะรับค่าคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ทั้งสองได้ทำความตกลงกันไว้
ปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับลูกค้าของโจทก์ที่ 1 ก็ดี ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 ก็ดีเป็นความสัมพันธ์กันในลักษณะสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างทำของศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีตัวอย่างหนังสือสัญญาซื้อขายและตัวอย่างใบสั่งซื้อ ตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.29 ถึง จ.40 มาแสดงและมีนายปิติ คุณกุลวรนันท์ รองผู้จัดการแผนกจัดซื้อของบริษัทนันทวัน จำกัด หรือชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า บริษัทโอบายาชิจำกัด นายสุรพล โทวาสน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทชิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด นายวิชัย จิตเจริญกาลกุลหัวหน้าแผนกจัดหาและบริการของบริษัทอินตาคอน จำกัด นายพิชิตประกอบสันติสุข กรรมการรองผู้จัดการบริษัทกรีไทย จำกัด นายไพทูรย์กาละพุฒ ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทซี.อี.เอส. จำกัด และนายพยนต์ทัฬหิกรณ์ วิศวกรประจำบริษัทแกรมม่าก่อสร้าง จำกัด ผู้เคยเป็นลูกค้าสั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์ที่ 1 มาก่อนเป็นพยานเบิกความรับรองว่า ทางบริษัทฯ พยานได้ซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์ที่ 1จำเลยหามีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างพยานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าเมื่อลูกค้าของโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 1ต่างมีเจตนาจะมุ่งให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์หรือคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อตอบแทนการใช้ราคาอันเข้าลักษณะสัญญาซื้อขาย คู่สัญญามิได้หวังผลสำเร็จในการงานเป็นสาระสำคัญประกอบกับการงานที่โจทก์ทั้งสองรับทำจนสำเร็จแก่ลูกค้านั้นหาได้มีความสำคัญไปกว่าปูนซีเมนต์ทราบ หิน และน้ำ ซึ่งเป็นสัมภาระหรือส่วนผสมที่นำมาใช้ในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จไม่ และโจทก์ทั้งสองก็ได้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระมิได้เป็นการครั้งคราว แม้ลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนหรือสูตรในการผสมคอนกรีตผสมเสร็จตามที่ลูกค้าต้องการหรือมีการกำหนดรวมค่าขนส่งและกำหนดอัตราค่าจอดรถคอยการเทคอนกรีตลงไว้ด้วย ก็เป็นการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายนั่นเอง หาใช่เป็นสัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยสู้ไม่ ทั้งการซื้อขายสินค้านั้น ผู้ขายก็ไม่จำเป็นต้องทำสินค้าสำเร็จไว้ล่วงหน้าเสมอไปก็ได้ ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะพิเศษของสินค้าที่จะขายดังเช่นกรณีคอนกรีตผสมเสร็จนี้ด้วยจะให้ผู้ขายผสมไว้ก่อนไม่ได้ เพราะหากไม่มีผู้ใดซื้อภายใน 1 ชั่วโมงคอนกรีตผสมเสร็จที่ทำไว้ก็จะแข็งตัวเสียหายหมด ไม่อาจจะนำไปใช้งานตามความประสงค์ของลูกค้าได้เลย สินค้าชนิดนี้จึงจำเป็นต้องขายตามคำสั่งของลูกค้าแต่ละรายไป ประกอบกับนายสมคิด แสงนิล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่าคอนกรีตผสมเสร็จเป็นสินค้ามาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานไว้ตามเอกสารหมาย จ.14 ซื้อขายกันได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะต้องส่งมอบคอนกรีตผสมเสร็จที่มีความแข็งแรงตามที่ตกลงแก่ลูกค้านั้น ก็เป็นเงื่อนไขที่ลูกค้าอาจจะกำหนดในการรับซื้อได้เหมือนกัน หาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับลูกค้าก็ดี ระหว่างโจทก์ที่ 2กับโจทก์ที่ 1 ก็ดี กลายเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะรับจะทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จอันเป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยต่อสู้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแต่ประการใด เมื่อการกระทำของโจทก์ทั้งสองมีลักษณะเป็นการซื้อขายสินค้าดังที่วินิจฉัยมา โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าท้ายหมวด 4ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share