แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยและภริยาซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อ แล้วใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและภริยาหาใช่ของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยก็อยู่ในระยะเวลา 3ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จึงต้องด้วยมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำเฉพาะส่วนของจำเลยเสียได้ และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ภายหลังที่มีการขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 2 ก็หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ แต่อย่างใดไม่ ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนสิทธิในทรัพย์พิพาทกึ่งหนึ่งกลับมาเป็นของจำเลย โดยให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนดังกล่าว หากไม่สามารถโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ ผู้คัดค้านทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้เงินเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของราคาทรัพย์พิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่ง.
ย่อยาว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2524ตามทางสอบสวน ปรากฏว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2521 จำเลยและภริยาซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวจากนายบันลือ อุตสาหจิต ในราคา 400,000 บาท โดยใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน หลังจากนั้นจำเลยได้ใช้ตึกแถวเป็นสถานที่ประกอบการค้าจนกระทั่งหลบหนีไป ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2523 ผู้คัดค้านที่ 1 โดยมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 500,000 บาท ดังนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่จำเลยได้ยินยอมให้กระทำการใด ๆ ภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย โดยไม่มีค่าตอบแทน ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ส่วนการโอนที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวในครั้งหลัง แม้จะได้รับอนุญาตจากศาล แต่ก็ได้กระทำภายหลังที่มีการขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ ขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยโดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของจำเลยครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เป็นเงิน 600,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ถือแทนจำเลยและภริยาการโอนขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับอนุญาตจากศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านว่า เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เยาว์ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงขออนุญาตศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางเพื่อทำนิติกรรมแทน และได้รับอนุญาตจากศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางในการโอนขายดังกล่าว ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนเป็นข้อแรกตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องมีว่า ที่ดินและตึกแถวพิพาทตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนั้น เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางศิริพรภริยาจำเลยหรือเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ตามที่ผู้คัดค้านโต้แย้งโดยอ้างว่าซื้อมาจากนายบันลือ อุตสาหจิต ในราคา 400,000บาท สำหรับปัญหานี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 เองว่า ขณะซื้อทรัพย์พิพาทผู้คัดค้านยังเป็นผู้เยาว์มีอายุเพียง 13 ปี อยู่ระหว่างการศึกษาในความอุปการะของจำเลยผู้เป็นบิดา ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีเงินเป็นจำนวนมากถึงสี่แสนบาทมาซื้อทรัพย์พิพาทจากบุคคลภายนอกได้เช่นนี้จึงดูเป็นเรื่องผิดปกติ ในเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน โดยมีจำเลยเป็นผู้ให้ความอุปการะอยู่ดังนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีเงินเป็นส่วนตัวของตนเองได้อย่างไรหรือได้มาโดยทางไหน ผู้คัดค้านที่ 1 คงนำสืบอ้างแหล่งที่มาของเงินที่นำไปซื้อทรัพย์พิพาทอย่างลอย ๆ โดยปราศจากหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งมีข้อที่น่าระแวงสงสัยหลายประการ ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 1นำสืบรับเข้ามาว่า จำเลยได้ออกเงินให้บางส่วนในการซื้อทรัพย์พิพาท จึงเป็นการเจือสมฝ่ายผู้ร้องที่ยืนยันว่าความจริงทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและนางศิริพรหาใช่ของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ จำเลยเพียงแต่อาศัยชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 แสดงต่อบุคคลภายนอก เพื่อผลในทางคดีที่อาจมีมาในอนาคต ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เองก็ยอมรับว่าจำเลยมีหนี้สินอยู่มาก ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยภายหลังจากซื้อทรัพย์พิพาทมาจากบุคคลภายนอกแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังคงดำเนินธุรกิจค้ากระดาษโดยจดทะเบียนพาณิชย์และใช้เป็นสถานที่ประกอบการค้าในตึกพิพาทแห่งนี้ตลอดมาจนกระทั่งจำเลยหลบหนีไป จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนอีกข้อหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทอันแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังนั้นคือจำเลย และการกระทำของจำเลยก็อยู่ภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จึงเป็นกรณีต้องด้วยมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำเฉพาะส่วนของจำเลยนั้นเสียได้และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การโอนทรัพย์พิพาทไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ภายหลังที่มีการขอให้จำเลยล้มละลายแล้วเช่นนี้แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 2 ก็หาได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ เพราะเป็นกรณีต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของผู้สุจริตเฉพาะในกรณีที่การโอนได้กระทำกันก่อนมีการขอให้ล้มละลายเท่านั้นผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ได้สิทธิเหนือทรัพย์พิพาทส่วนที่เป็นของจำเลย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ทรัพย์พิพาทมีราคาเท่าไร ผู้ร้องนำสืบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ไปตรวจสอบตึกแถวและที่พิพาทแล้วเห็นว่ามีราคาไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนทรัพย์พิพาทมาในราคา 500,000 บาทตามที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและอนุญาตให้ขายได้ในราคาดังกล่าว ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าราคาทรัพย์พิพาทควรถือตามที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางกำหนดในขณะที่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันคือราคา 500,000 บาทซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน 250,000 บาท ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงฟังขึ้นเป็นบางส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสิทธิในทรัพย์พิพาทกึ่งหนึ่งกลับมาเป็นของจำเลย โดยให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนดังกล่าว หากไม่สามารถโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ ก็ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สำหรับค่าทนายความทั้งสามศาลปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แต่งทนายเข้าดำเนินคดี จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้.