คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ต่อเมื่อหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว และผู้สละเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นด้วย หากเจ้ามรดกยังไม่ตายก็ย่อมตะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกสละได้ ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 1615 บัญญัติให้การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2501 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2504 ผู้ร้องและเจ้ามรดกได้ทำสัญญากันมีใช้ความว่า ผู้ร้องไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของเจ้ามรดก นอกจากนา 10 ไร่ และยุ้งข้าวครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ดังนี้สัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดก เพราะได้ทำไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ไม่มีผลกระทบกระเทือนพินัยกรรมของเจ้ามรดกที่ทำไว้ข้างต้น และเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย จึงชอบที่จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยืนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางปลั่ง ธรรมปัญญา โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนางปลั่ง และเป็นผู้รับพินักรรมของนางปลั่งตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ ผู้ต้องจึงขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกต่อไป
นายครอบ ธรรมปัญญา พี่ชายของผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า หลังจากที่นางปลั่ง ธรรมปัญญา ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ แล้ว ผู้ร้องไม่เคารพยำเกรงนางปลั่ง ประพฤติฝ่าฝืนจิตใจนางปลั่ง และเอาเงินของนางปลั่งไปใช้ส่วนตัวเป็นจำนวนมาก นางปลั่งจึงเปลี่ยนใจไม่ยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้ผู้ร้อง ผู้ร้องกับนางปลั่งจึงได้ทำสัญญาลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ ความว่า ผู้ร้องจะไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของนายเคลื่อน นางปลั่ง ธรรมปัญญา ไม่มีสิ่งใด ๆ ที่มีอยู่ ส่วนยุ้งข้าวนั้นคงเป็นของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนนามรดกคงเป็นของผู้ร้อง ๑๐ ไร่ ส่วนของนอกนั้นผู้ร้องไม่เกี่ยวข้องด้วย และยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ จึงขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปลั่ง ธรรมปัญญา
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า พินัยกรรมของนางปลั่ง ธรรมปัญญา ฉบับลงวันที่ ๒๓ตุลาคม ๒๕๐๑ เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย หนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ ซึ่งผู้ร้องและนางปลั่งทำไว้นั้นเป็นเพียงสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้ร้องกับนางปลั่งในขณะมีชีวิตอยู่โดยตกลงว่าผู้ร้องจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของนางเคลื่อนบิดาที่ตายไปแล้ว ตลอดจนทรัพย์สินของนางปลั่งในระหว่างที่นางปลั่งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น มิได้ร่วมถึงทรัพย์มรดกของนางปลั่ง ทั้งนี้เพราะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจะสละมรดกได้ก็ต่อเมื่อมรดกตกทอดถึงตนแล้วจะสละสิทธิรับมรดกไว้ล่วงหน้ามิได้ หนังสือสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เรื่องสละมรดกของผู้ร้องและผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกนางปลั่งแต่ผู้เดียว เป็นผู้เหมาะสมไม่มีคุณสมบัตรต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเห็นพ้องกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปลั่งผู้ตาย พิพากษากลับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ นางปลั่งเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินให้ผู้ร้อง ต่อมาวันที่ ๑ธันวาคม ๒๕๐๔ ผู้ร้องและนางปลั่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือมีใจความว่า ผู้ร้องไม่ขอเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของนางเคลื่อนและนางปลั่ง นอกจากนา ๑๐ ไร่ และยุ้งข้าวครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องยอมสละสิทธิหมดทุกอย่างเท่าที่มีสิทธิจะพึงได้ นางปลั่งเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๑๐
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสละมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว และผู้สละเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นด้วย หากเจ้ามรดกยังไม่ตาย ก็ย่อมจะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นสละได้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากมาตรา ๑๖๑๕ ซึ่งบัญญัติว่า การที่ทายาทสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ฯลฯ ซึ่งแสดงว่าการสละมรดกนั้นเป็นการสละภายหลังที่เจ้ามรดกตายแล้ว กฎหมายจึงให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า การสละมรดกกระทำไว้ล่วงหน้าก่อนจ้ามรดกตายได้ ไม่ขัดต่อมาตรา ๑๖๑๙ เพราะมาตรา ๑๖๑๙ บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการสืบมรดก มิใช่การรับมรดกนั้น เห็นว่าเมื่อการสละมรดกจะกระทำได้หลังจากที่เจ้ามรดกตายดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจะขัดกับมาตรา ๑๖๑๙ อีกด้วยหรือไม่ ฉะนั้นหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ ที่ผู้ร้องทำไว้ก่อนนางปลั่งถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นการสละมรดก ไม่มีผลกระทบกระเทือนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ ซึ่งนางปลั่งยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวแต่ประการใด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปลั่งผู้ตายจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน
(บัญญัติ สุขีวะ เดช วุฒิสิงห์ชัย ผสม จิตรชุ่ม)

Share