คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164-2173/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเล่นแชร์ประเภทดอกตาม คือผู้ที่เปียได้ไปแล้วจะต้องส่งดอกเบี้ยพร้อมกับต้นเงินแชร์เป็นงวด ๆ จนกว่าจะครบกำหนดนั้น ผู้เล่นที่มีสิทธิรับเงินในงวดต่อ ๆ ไปย่อมมีสิทธิได้ดอกเบี้ยในการประมูลครั้งก่อน ๆ เป็นผลประโยชน์ตอบแทน การให้ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงอย่างหนึ่งของสัญญาเล่นแชร์ ผู้มีสิทธิรับค่าแชร์ในภายหลังย่อมมีสิทธิเรียกได้ตามสัญญานั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบสำนวนพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสิบสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสิบสำนวนมีสิทธิเรียกเงินดอกเบี้ยที่ผู้เล่นประมูลเปียแชร์ได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์เรียกเงินค่าแชร์คืนก็มีสิทธิเรียกเฉพาะเงินที่ส่งแชร์ไปเท่านั้น จะเรียกดอกเบี้ยไม่ได้เพราะไม่ได้เงินที่ส่งแชร์ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นค่าเสียหายให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็วว่า ในการเล่นแชร์รายนี้ต้องมีการประมูลระหว่างผู้เข้าเล่นเป็นงวด ๆ ไปใครให้ดอกเบี้ยสูงกว่าคนอื่น ๆ คนนั้นก็เป็นผู้ประมูลได้ในงวดนั้น ๆ และเป็นแชร์ประเภทดอกตาม คือผู้ที่เปียได้แล้วจะต้องส่งดอกเบี้ยพร้อมกับต้นเงินแชร์เป็นงวด ๆ จนกว่าจะครบกำหนด ผู้เล่นที่มีสิทธิรับเงินในงวดต่อ ๆ ไปก็มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในการประมูลครั้งก่อน ๆ เป็นประโยชน์ ตอบแทน การให้ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาเล่นแชร์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับเงินค่าแชร์ในภายหลังจึงมีสิทธิเรียกได้ตามสัญญานั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย จึงกำหนดให้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องนั้นเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษาต้องกันให้โจทก์ชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ในสำนวนที่ 4 ในจำนวนต้นเงิน 9,900 บาท(33 งวด ๆ ละ 300 บาท) ดอกเบี้ย 3,480 บาท และในสำนวนที่ 5 เป็นจำนวนต้นเงิน 9,400 บาทนั้นยังวไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ได้ขอแก้ฟ้องในสำนวนดังกล่าวจากจำนวน 33 งวดเป็นจำนวน 26 งวด และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว จึงเป็นการผิดพลาดไป ที่ถูกในสำนวนที่ 4 และที่ 5 ต้องให้จำเลยใช้ต้นเงิน และดอกเบี้ยในแต่ละสำนวนเป็นต้นเงิน 7,800 บาท ดอกเบี้ย 1,740 บาท 50 สตางค์ และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143

พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ในสำนวนที่ 4 และที่ 5 แต่ละสำนวน ในต้นเงิน 7,800 บาท ดอกเบี้ย 1,740 บาท 50 สตางค์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์สำนวนแรก สำนวนที่ 3 และ สำนวนที่ 5 สำนวนละ 600 บาท ส่วนสำนวนนอกนั้นอีกเจ็ดสำนวนสำนวนละ 400 บาท”

Share