แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีภริยาเป็นผู้อนุบาลสามีซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 นั้นมาตรา 1581 ไม่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับจึงจะนำมาตรา 1561, 1562, 1563. ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับแก่ภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามีหาได้ไม่
ภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามี มีสิทธิทำนิติกรรมขายสินบริคณห์ได้โดยลำพัง หากกระทำไปเพื่อประโยชน์ของสามีตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 710/2490 แต่การที่ภริยาเอาที่ดินสินบริคณห์ไปยกให้แก่บุตรคนหนึ่งโดยเสน่หา มิใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์ของสามีแต่อย่างใด ภริยาในฐานะผู้อนุบาลจึงไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนที่เป็นของสามีไปยกให้แก่บุตรโดยเสน่หาได้ คงมีสิทธิกระทำได้ในฐานะที่เป็นภริยา ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินสินบริคณห์นั้นด้วย โดยมิพักต้องได้รับอนุญาตจากสามี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 39 นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาดังกล่าว จึงผูกพันส่วนที่เป็นของภริยา แต่ไม่ผูกพันส่วนของสามี เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าที่ดินสินบริคณห์นั้นสามีกับภริยามีส่วนคนละเท่าใด และภริยาก็ทำนิติกรรมให้บุตรมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับสามีอันมีผลเท่ากับภริยายอมสละส่วนของตนให้แก่บุตรเท่านั้น นิติกรรมรายนี้จึงไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนายเมี้ยนเป็นบุตรนายแม้น นางต่อมจิตรภิรมย์ จำเลยเป็นภริยานายเมี้ยน เดิมนางต่อมเป็นผู้อนุบาลนายแม้นผู้ไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล ต่อมานางต่อมตายโจทก์เป็นผู้อนุบาลนายแม้นตามคำสั่งศาลต่อมา ส่วนจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายแม้นตามคำสั่งศาล เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน๒๕๑๓ นางต่อมซึ่งเป็นผู้อนุบาลนายแม้นได้เอาชื่อนายเมี้ยนใส่ลงในโฉนดที่ดินของนายแม้น โดยนางต่อมทำนิติกรรมยกให้โดยเสน่หาโดยนายแม้นไม่มีสิทธิทั้งศาลไม่ได้อนุญาตให้นางต่อมทำได้ นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะเป็นการเสียหายแก่นายแม้นและไม่ใช่เจตนาของนายแม้น โจทก์ได้บอกเลิกและให้จำเลยถอนชื่อนายเมี้ยนออกจากโฉนดที่ดินของนายแม้นแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมยกให้ระหว่างนางต่อมกับนายเมี้ยนเป็นโมฆะ ให้จำเลยถอนชื่อนายเมี้ยนออกจากโฉนดที่ดินของนายแม้นถ้าไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องที่ดินตามโฉนดที่ฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างนายแม้นกับนางต่อมขณะทำนิติกรรมนางต่อมยังไม่ขาดจากการเป็นสามีภริยากับนายแม้นนิติกรรมยกให้ย่อมผูกพันสินบริคณห์ส่วนของนางต่อม เมื่อนายแม้นถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์โดยนางต่อมไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลนางต่อมกับนายเมี้ยนมิได้ร่วมกันทำกลฉ้อฉล ไม่ได้แสดงเจตนาลวงแต่กระทำโดยสุจริตเป็นการให้ระหว่างมารดากับบุตร เฉพาะส่วนของตนในสินบริคณห์ไม่เป็นโมฆะ
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่านางต่อมมีอำนาจทำนิติกรรมยกที่ดิน (ตามฟ้อง) ให้แก่นายเมี้ยนหรือไม่และกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นางต่อมทำนิติกรรมยกให้โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์และนายเมี้ยนเป็นบุตรนายแม้นนางต่อม จำเลยเป็นภริยานายเมี้ยน นายแม้นถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของนางต่อมที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ ในโฉนดมีชื่อนายแม้นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ระหว่างนางต่อมเป็นผู้อนุบาลนางต่อมได้เอาที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ จดทะเบียนยกให้นายเมี้ยนเป็นเนื้อที่ ๑๐ ไร่และแบ่งแยกโฉนดแล้วต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๓ นางต่อมได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ที่เหลือ ๒๐ ไร่ออกเป็นอีกโฉนดหนึ่งขายให้นายธนาเพื่อเอาเงินไว้เลี้ยงดูนายแม้นและทำบุญ คงเหลือที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ อีก ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๑๗ วา คือ ที่พิพาทเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๓ นางต่อมได้ใส่ชื่อนายเมี้ยนในโฉนดที่ ๘๗๕ให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายแม้น โดยนางต่อมมอบอำนาจให้นายเมี้ยนทำนิติกรรมยกให้โดยเสน่หาแทนนางต่อมาวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๓ นายเมี้ยนตาย ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๔ นางต่อมตายศาลได้มีคำสั่งให้นายแม้นอยู่ในความอนุบาลของโจทก์
ในปัญหาว่า นางต่อมไม่มีอำนาจทำนิติกรรมยกที่พิพาทให้นายเมี้ยนเพราะไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๑,๑๕๖๒, ๑๕๖๓ และ ๑๕๘๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบทกฎหมายที่โจทก์อ้างเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองแต่ ๑๕๘๑ ไม่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับแก่สามีหรือภริยาที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและมีผู้อนุบาลแล้ว ตามมาตรา ๑๔๕๗ กรณีนี้จึงไม่อยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติที่โจทก์อ้าง
ส่วนในปัญหาว่า แม้ที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ เป็นสินบริคณห์ของนายแม้นกับนางต่อมแต่นางต่อมได้แบ่งแยกเอาไปขายเสีย ๑๐ ไร่แล้วย่อมไม่มีส่วนของนางต่อมในที่พิพาทที่เหลืออยู่ นางต่อมจึงไม่มีอำนาจยกที่พิพาทอันเป็นส่วนของนายแม้น ให้นายเมี้ยนโดยเสน่หานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามหนังสือมอบอำนาจ หมาย ล.๑ และบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมหมาย จ.๑ มีข้อความว่านางต่อมาขอมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดิน ๘๗๕ ซึ่งเป็นชื่อสามีของนางต่อมผู้ถูกศาลสั่งวิกลจริต และนางต่อมได้รับคำสั่งศาลให้ดูแลแทนสามี โดยให้นายเมี้ยนบุตรชายของนางต่อมกับนายแม้นสามีของนางต่อมมีสิทธิร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินบริคณห์ของนายแม้นกับนางต่อม แม้ในนิติกรรมยกให้จะมีชื่อนางต่อมเป็นผู้ทำนิติกรรมแต่ผู้เดียวก็ย่อมผูกพันสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๖๑ วรรค ๒ และมาตรา ๓๐ เพราะนางต่อมเป็นผู้อนุบาลนายแม้นสามีอยู่แล้ว จึงมิพักต้องได้รับความยินยอมจากสามีตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๐/๒๔๙๐ ระหว่างนายอนันต์ พรชัย โจทก์ นางกระแส กับพวก จำเลยปรากฏว่าคดีนั้นเป็นเรื่องภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามีทำสัญญาขายเรือนพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ โดยตกลงซื้อขายกันขณะที่สามีป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลและภริยาได้รับเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ เพื่อใช้จ่ายในการร้องขอเป็นผู้อนุบาลสามี จะเห็นได้ว่าคดีนั้นภริยากระทำไปเพื่อประโยชน์ของสามี ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีนั้นว่าภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามีมีสิทธิทำสัญญาขายเรือนพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ได้ตามลำพังข้อเท็จจริงในคดีนั้นแตกต่างกับคดีเรื่องนี้มาก จึงยกเอาหลักวินิจฉัยดังกล่าวมาใช้ในคดีนี้หาได้ไม่เพราะคดีนี้เป็นเรื่องนางต่อมเอาที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ไปยกให้แก่นายเมี้ยนโดยเสน่หามิใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์ของนายแม้นผู้เป็นสามีแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเห็นว่านางต่อมในฐานะผู้อนุบาลนายแม้นไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนที่เป็นของนายแม้นไปยกให้แก่นายเมี้ยนโดยเสน่หาปัญหาคงมีว่านิติกรรมการยกให้ระหว่างนางต่อมกับนายเมี้ยนผูกพันที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา ๓๙แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อสามีถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หญิงมีสามีย่อมทำการอันผูกพันส่วนของตนในสินบริคณห์ได้โดยมิพักต้องได้รับอนุญาตของสามี ดังนั้นนิติกรรมการยกให้ที่นางต่อมได้กระทำไป แม้จะกระทำในฐานะผู้อนุบาลของนายแม้นแต่ก็เป็นการทำในฐานะที่เป็นภริยาของนายแม้นด้วยปรากฏว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ เป็นสินสมรสระหว่างนางต่อมกับนายแม้นนางต่อมจึงมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ นี้ด้วย นิติกรรมการยกให้ที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕ จึงผูกพันส่วนที่เป็นของนางต่อม แต่ไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นของนายแม้นแม้โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลคนใหม่ของนายแม้นจะมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินส่วนที่เป็นของนายแม้นได้ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๗๕อันเป็นสินสมรสนั้น นายแม้นกับนางต่อมมีส่วนคนละเท่าใด ทั้งข้อเท็จจริงก็ได้ความแต่เพียงว่านางต่อมให้นายเมี้ยนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายแม้นอันมีผลเท่ากับนางต่อมยอมสละส่วนของตนให้แก่นายเมี้ยนเท่านั้นนิติกรรมยกให้ระหว่างนางต่อมกับนายเมี้ยนจึงหาเป็นโมฆะดังโจทก์อ้างไม่
พิพากษายืน