แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาประสงค์จะให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดตามวันเวลาที่ผู้เสียหายเบิกความซึ่งแตกต่างไปจากที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาดังนี้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284,309,310 ว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อ ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญและใช้กำลังฉุดผู้เสียหายจากในซอย ให้ขึ้นรถยนต์แล้วพาไปถึงโรงแรมแต่ผู้เสียหายหนีออกมาได้ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียวโดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารเท่านั้น แต่โดยลักษณะของการกระทำคือ การบังคับพาเอาตัวผู้เสียหายจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งเช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 310 อยู่ในตัวการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525 มาตรา4 มาด้วยตามคำขอของโจทก์นั้นปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะออกมามีผลบังคับใช้โดย เพิ่มอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ให้สูงขึ้นกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดจะนำมาปรับบทลงโทษจำเลยด้วยหาได้ไม่เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284, 309310, 371, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารจำคุก 3 ปี ฐานทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพและหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพกพาอาวุธปืน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปีรวมจำคุก 8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานทำให้เสียเสรีภาพเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็บทหนักจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนแล้ว รวมจำคุก6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2524 แต่ผู้เสียหายเบิกความว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2524 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญและทำให้จำเลยหลงต่อสู้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2524 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2524 อาจเป็นเพราะผู้เสียหายหลงลืมไป ฎีกาของจำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดในวันที่ 21 มีนาคม 2524 ซึ่งแตกต่างไปจากที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแกก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284, 309, 310 ว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
โจทก์ฎีกาข้อแรกในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 กรรมหนึ่ง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309,310 อีกกรรมหนึ่ง ขอให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญและใช้กำลังฉุดผู้เสียหายจากในซอยวิทยาลัยครูเพชรบุรี ถนนเพชรบุรี ให้ขึ้นรถยนต์แล้วพาไปถึงโรงแรมเทียนทองบริเวณสถานีรถไปหัวลำโพง แต่ผู้เสียหายหลบหนีออกมาได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียว โดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารเท่านั้น แต่โดยลักษณะของการกระทำคือการบังคับพาเอาตัวผู้เสียหายจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง เช่นนี้ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และมาตรา 310 อยู่ในตัวการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลาบทซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เป็นการคลาดเคลื่อน ขอให้ศาลฎีกาแก้เป็นมาตรา 284 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเช่นนั้นเนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดไป สมควรที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 มาด้วยตามคำขอของโจทก์นั้นปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2524 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะออกมามีผลบังคับใช้โดยเพิ่มอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284ให้สูงขึ้น กฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดจะนำมาปรับบทลงโทษจำเลยด้วยหาได้ไม่เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารฐานทำให้เสียเสรีภาพ และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นนั้น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284, 309, 310 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์