คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนฐาน ขับรถยนต์ โดย ประมาทเป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย แต่ ปรากฏ ว่าโจทก์ได้ ฟ้อง จำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ ชีวิต และพ.ร.บ. จราจรทางบกฯศาลส่วนอาญาพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ดังนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46ในการพิพากษาคดีแพ่งศาลจำต้องถือ ข้อเท็จจริงตาม ที่ ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้ขับรถยนต์ โดย ประมาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1ได้ขับรถตู้สีขาวชนรถของสามีโจทก์ เป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถเก๋งคันเกิดเหตุ 110,000 บาทระหว่างนำรถไปซ่อมต้องเช่ารถอื่นใช้ประโยชน์แทนจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,000 บาท นายเสน่ห์มีมารดาซึ่งตามองไม่เห็นทั้งสองข้างต้องอุปการะหนึ่งคนบุตรอีก 3 คน คนแรกอายุ 15 ปี คนที่สองอายุ13 ปี และคนที่สามอายุ 7 ปี ทุกคนกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย การที่นายเสน่ห์เสียชีวิตทำให้บุตรทั้งสามขาดไร้อุปการะ โจทก์ขอคิดค่าเลี้ยงชีพบุตรเป็นเวลา 10 ปี ปีละ10,000 บาท ต่อคน รวมเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าอุปกรณ์การศึกษาเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 10,000 บาท ต่อคน เป็นเงิน 300,000 บาทค่าไร้อุปการะสำหรับนางดวง ธรรมวรรณ มารดาเป็นเวลา 10 ปี ปีละ10,000 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพนายเสน่ห์อีก 60,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 888,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรถยนต์ไม่ใช่ของสามีโจทก์และไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนบุตรผู้เยาว์และมารดาของผู้ตายในนามของตนเอง จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนประมาทค่าเสียหายสูงเกินความจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 856,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันที่นายเสน่ห์สามีโจทก์ขับขี่เป็นเหตุให้นายเสน่ห์ถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวคดีที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในคดีนี้นั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 513/2528 ของศาลจังหวัดเชียงราย (เอกสารหมาย ล.7) และคดีอาญานั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายคำฟ้องฎีกา คำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว (ชั้นอุทธรณ์) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2530 ตามใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุด คำแก้ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งว่าเอกสารท้ายฎีกาไม่ถูกต้องข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ถึงที่สุดแล้วคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวนั้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับขี่รถยนต์โดยประมาทดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับขี่รถยนต์โดยประมาทตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ประมาท จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ฟ้อง…”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share