คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัดโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุอาศัยอยู่ในวัดโจทก์ให้ออกไปจากวัดโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสวัดโจทก์ เจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย แม้ตามฟ้องจะอ้างเรื่องอื่นพาดพิงถึงพระธรรมวินัยด้วยก็ตามแต่เป็นเพียงข้ออ้างประกอบข้อกล่าวหา ที่ว่าจำเลยไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสโจทก์ร่วมเท่านั้น มูลกรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิทางแพ่งของวัดโจทก์ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลและของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ ไม่ใช่กรณีที่จะต้องอาศัยคำวินิจฉัยชี้ขาดของมหาเถรสมาคมเช่นกรณีพระภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้มาอาศัยอยู่กับโจทก์หลายปีมาแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการปกครองทางคณะสงฆ์ของโจทก์ กล่าวคือ จำเลยไม่ยอมขึ้นต่อการปกครองของเจ้าอาวาสจำเลยได้กระทำการแทรกแซงในสังฆกรรมและงานประเพณีต่าง ๆ ของวัดตลอดมา เจ้าอาวาสขอร้องจำเลย จำเลยก็ปฏิเสธ ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากวัดโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พระปลัดบุญชวนมิได้เป็นเจ้าอาวาสโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ขอให้ยกฟ้อง

พระปลัดบุญชวนในฐานะเจ้าอาวาสวัดพระโยกได้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อพิพาทอยู่ในอำนาจของมหาเถรสมาคมที่จะพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลที่จะพิจารณา ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วม

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดี แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มูลกรณีที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากวัดโจทก์นี้ โจทก์อ้างเรื่องที่จำเลยไม่ยอมขึ้นต่อการปรครองของเจ้าอาวาสวัดโจทก์ โดยที่จำเลยแทรกแซงในสังฆกรรม และงานประเพณีต่าง ๆ ของวัด และเรื่องที่จำเลยไม่ยอมร่วมศาสนพิธีมาฆะบูชา วิสาขะบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา งานประจำเดือนสิบ งานสรงน้ำพระโยก งานรับผ้าพระกฐิน และงานรับทอดผ้าป่า แม้ว่าเรื่องที่โจทก์อ้างเหล่านี้บางเรื่องพาดพิงถึงพระธรรมวินัยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้ออ้างประกอบข้อกล่าวหาที่ว่า จำเลยไม่อยู่ในโอวาทของโจทก์ร่วมอันเป็นข้อกล่าวหาและเป็นประเด็นแห่งข้อพิพาทในคดีนี้ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมจะฟ้องขับไล่จำเลยได้หรือไม่เท่านั้น มูลกรณีที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องนี้ ถือได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิทางแพ่งของวัดโจทก์ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลและของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ เรื่องนี้จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องอาศัยคำวินิจฉัยชี้ขาดของมหาเถรสมาคมเช่นกรณีพระภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัยศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55

พิพากษายืน

Share