แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยผลิตในคดีก่อนกับคดีนี้จำนวนเดียวกันวันเวลาที่จำเลยขายปุ๋ยเคมีปลอมอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันและผู้ที่ซื้อปุ๋ยเคมีปลอมจากจำเลยก็เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือผู้เสียหายในคดีนี้ ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยฐานขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องในคดีก่อนตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518มาตรา 30,32,62,71,72 กับการกระทำความผิดของจำเลยฐานฉ้อโกงโดยการหลอกลวงขายปุ๋ยเคมีปลอมให้ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ตามฟ้องในคดีนี้ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องในคดีก่อนแล้ว แม้คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า (ผสม) โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า ปุ๋ยวินด์เซิร์ฟผลิตปุ๋ยสูตร 16-20-0 ซึ่งได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไว้ ทะเบียนเลขที่ 211/2532จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในคดีนี้ทั้งในฐานะส่วนตัวและกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน 2532 เวลากลางวันถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2532 เวลากลางวันติดต่อกันตลอดมา จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหลอกลวงนายวิเชียร สุวรรณรัตน์ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งกล่าวคือ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีบรรจุในกระสอบซึ่งมีฉลากข้อความว่า ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ตราวินเซิร์ฟทะเบียนเลขที่ 211/2532 ผลิต บริษัทเกษตรเสริมสุข จำกัดซึ่งหมายความว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่มีปริมาณธาตุอาหารรับรองของไนโตรเจนทั้งหมดร้อยละ 16 ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ร้อยละ 20ไนโตรเจนที่ละลายน้ำร้อยละ 0 อันเป็นมาตรฐานที่จำเลยที่ 2ได้ขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไว้ตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเลขที่ 211/2532เพื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเห็นและเชื่อว่าเป็นปุ๋ยที่มีมาตรฐานสูตร 16-20-0 และจำเลยที่ 1 ได้กล่าวหลอกลวงผู้เสียหายว่าปุ๋ยเคมีสูตร 16-200 ตราวินด์เซิร์ฟ ที่จำเลยทั้งสองผลิตเป็นปุ๋ยเคมีที่ผลิตได้มาตรฐานตามสูตรข้างกระสอบบรรจุ ซึ่งความจริงแล้วปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิตบรรจุในกระสอบที่มีฉลาก ข้อความว่าปุ๋ยเคมีสูตร 16-200 ตราวินด์เซิร์ฟ ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีปริมาณธาตุอาหารต่ำกว่าร้อยละ 10 จากเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และที่ระบุไว้ในฉลากอันเป็นปุ๋ยเคมีปลอม โดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อซื้อปุ๋ยเคมีดังกล่าวจำนวน 125 ตัน ราคา 525,000 บาท จากจำเลยทั้งสองทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งเงินจำนวน 525,000 บาท จากผู้เสียหายโดยทุจริต จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3727/2534 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และจำเลยที่ 2เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 525,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 ปรับ 6,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 525,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้นับโทษจำเลยที่ 1ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3727/2537ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คำขอนอกจากนั้นให้ยกเสีย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ในข้อหาร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมและขายปุ๋ยเคมีปลอม ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 30, 32, 62, 63, 71, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ปุ๋ยเคมีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นปุ๋ยเคมีปลอมจำนวนเดียวกัน วันเวลาที่จำเลยทั้งสองขายปุ๋ยเคมีปลอมในคดีก่อนกับคดีนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และผู้ซื้อปุ๋ยเคมีปลอมจากจำเลยทั้งสองในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ นายวิเชียร สุวรรณรัตน์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ต่อมาระหว่างที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสุพรรณบุรี) ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้พิพากษาคดีก่อนดังกล่าวให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์ในคดีนั้น ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 3727/2534ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นที่ได้ความว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นปุ๋ยเคมีปลอมจำนวนเดียวกัน วันเวลาที่จำเลยทั้งสองขายปุ๋ยเคมีปลอมในคดีก่อนกับคดีนี้อยู่ในระยะเวลาเดียวกัน และผู้ที่ซื้อปุ๋ยเคมีปลอมจากจำเลยทั้งสองในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกัน คือผู้เสียหายในคดีนี้ ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องของโจทก์ในคดีก่อน กับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานฉ้อโกงโดยการหลอกลวงขายปุ๋ยเคมีปลอมให้ผู้เสียหายตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ดังนั้นเมื่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนแล้วแม้คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ก็ถือได้ว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน