แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับเงินรายได้ต่างๆ ของการรถไฟฯ ได้รับเงินรายได้ไว้จำนวนหนึ่ง แล้วไม่นำส่งตามกำหนดเวลาที่มีระเบียบวางไว้โดยได้ให้ อ. ยืมเงินจำนวนนี้ไป ต่อมา อ. หนีไปจำเลยจึงรับใช้เงินดังกล่าวให้จนครบ ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยนำเงินที่จำเลยมีหน้าที่รักษาไว้ไปให้ผู้อื่นยืมใช้ก่อนถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยมีเจตนาทุจริตตั้งแต่เวลาที่จำเลยให้ผู้อื่นยืมไป การใช้เงินคืนในภายหลังเพียงเป็นเหตุบรรเทาโทษเท่านั้นและเมื่อพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา จึงถือได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับเงินรายได้ของการรถไฟฯ จากเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่นำเงินมาส่งมอบ จำเลยได้รับมอบเงินรายได้จากเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 20,211.90 บาท แล้วไม่นำส่งมอบตามหน้าที่ที่จำเลยจะต้องกระทำ กลับเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไว้เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 352 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 4 จำคุกจำเลย 6 ปี ลดรับสารภาพชั้นสอบสวนให้ 1 ใน 3คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยกระทำผิดแต่มีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาแก้เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมายังไม่เข้าเกณฑ์กฎหมายที่จะถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตไม่เป็นความผิดนั้น ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟฯ มีหน้าที่รับเงินรายได้ต่าง ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามวันเวลาเกิดเหตุได้รับเงินรายได้ไว้ 20,211.90 บาท แล้วไม่นำส่งเงินจำนวนนี้ตามกำหนดเวลาที่มีระเบียบวางไว้ โดยจำเลยได้ให้นายอุดมศักดิ์ ยืมไป เมื่อนายอุดมศักดิ์ หนีงานไปพร้อมด้วยเงินที่ต้องรับผิดชอบอีกจำนวนหนึ่ง จำเลยจึงรับใช้เงินทั้งสองจำนวนนี้ให้แก่การรถไฟฯ จนครบ ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยนำเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่รักษาไว้ไปให้ผู้อื่นยืมใช้ก่อน ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น โดยมีเจตนาทุจริตตั้งแต่เวลาที่จำเลยให้ผู้อื่นยืมไปการใช้เงินคืนในภายหลังเพียงเป็นเหตุบรรเทาโทษเท่านั้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟฯ เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหาได้ไม่
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์