แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อ. เอาประกันภัยอาคารโรงงานซึ่งระหว่างก่อสร้างและวัตถุดิบไว้กับจำเลย โดยยกประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้โจทก์ มีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ว่า ถ้าการค้าหรือการอุตสาหกรรมที่ผู้เอาประกันดำเนินอยู่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มการเสี่ยงวินาศภัย ผู้เอาประกันต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนวินาศภัยเกิดขึ้น มิฉะนั้นสัญญาประกันภัยระงับทันที และมีข้อตกลงว่า อัตราดอกเบี้ยประกันจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จ ดังนี้ การที่จำเลยได้เรียกให้อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จและเริ่มเดิมเครื่องจักรทำการผลิต เจตนาของจำเลยเป็นเพียงการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น หาเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าการเดินเครื่องจักรทำการผลิตเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้นโดยละเมิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยไม่
เมื่อจำเลยเรียกให้ อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นอ.มีหนังสือตอบจำเลยมีใจความว่าขอส่งคืนกรมธรรม์เนื่องจากอ. ได้เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับบริษัทอื่นแล้ว อ. ประสงค์จะเอาประกันเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งยังมิได้เอาประกันไว้ เงินเอาประกันเครื่องจักรขอให้เป็นไปตามเดิม ดังนี้ เจตนาของ อ. มีความหมายเป็นคำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เดิม โดยจะเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบ ซึ่งได้ย้ายไปเอาประกันไว้กับบริษัทอื่น หาเป็นการบอกเลิกสัญญาไม่ และการที่ อ. แสดงเจตนาตามคำเสนอต่อจำเลยซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมตกเป็นอันไร้ผลเมื่อเกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยเสียก่อนที่หนังสือ อ. จะไปถึงบริษัทจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมจึงยังมีผลผูกพันจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยถูกวินาศภัยไปทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอาประกัน เว้นแต่ผู้รับประกันภัยพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์สินต่ำกว่าจำนวนเงินที่เอาประกัน
อ. เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับจำเลย แล้วนำวัตถุดิบนั้นไปประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นอีก แม้เมื่อเกิดความเสียหายจากอัคคีภัยขึ้น อ.ได้ยอมรับค่าเสียหายจากบริษัทรับประกันภัยอื่นนั้นไปบางส่วนแล้วก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 871 และจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยก่อน ซึ่งต้องรับผิดมากกว่าผู้รับประกันภัยคนหนึ่ง ตามมาตรา 870 วรรคท้ายจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนวินาศภัยจริงที่ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
เครื่องปรับอากาศทำความเย็นซึ่งติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารที่เอาประกันภัย เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ หาใช่ส่วนควบของอาคารไม่ เมื่อเกิดอัคคีภัยไหม้อาคารและเครื่องปรับอากาศก็ไป ผู้เอาประกันภัยจะเรียกเอาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทอุตสาหกรรมผลิตยางยูนิเวอร์แซล จำกัด(โดยนายสกล วิบูลย์วัฒนกิจ กรรมการผู้จัดการ) ได้นำเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 10937 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างได้แก่อาคารและโรงงานทั้งหมดมาจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าบริษัทดังกล่าวต้องเอาประกันภัยอาคารโรงงานและสต๊อกสินค้าวัตถุดิบทั้งหมดไว้ และระบุในกรมธรรม์ประกันภัยยกประโยชน์ให้ธนาคารโจทก์ด้วย บริษัทอุตสาหกรรมผลิตยางยูนิเวอร์แซล จำกัด จึงได้ทำประกันวินาศภัยอาคารโรงงานและสต๊อกสินค้าวัตถุดิบของยางยานพาหนะไว้กับจำเลยในวงเงิน 10 ล้านบาท บริษัทดังกล่าวชำระเบี้ยประกันภัยให้จำเลยครบแล้ว อายุประกันภัยมีกำหนดหนึ่งปีเฉพาะสต๊อกสินค้าวัตถุดิบของยางยานพาหนะ บริษัทผู้เอาประกันภัยยังได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ในวงเงินอีก 5 ล้านบาท ครั้นวันที่ 9 สิงหาคม 2512 ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารโรงงาน และสต๊อกสินค้าวัตถุดิบของยางยานพาหนะที่เอาประกันภัยไว้ อาคารโรงงานถูกไหม้บางส่วน
ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าประกันวินาศภัยให้ธนาคาร โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์รวม 5,570,000บาทเศษ จำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้ บริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัดได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทอุตสาหกรรมผลิตยางยูนิเวอร์แซลแล้ว เป็นเงิน 2,150,000 บาท จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องชำระให้ธนาคารโจทก์อีก 4,066,916.10 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก่อนฟ้อง รวม 203,067.19 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้ธนาคารโจทก์ รวม 4,269,983.29 บาทรวมทั้งดอกเบี้ย ฯลฯ
จำเลยให้การว่า มีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 8(ก) ว่า ถ้าการค้าหรือการอุตสาหกรรมที่ผู้เอาประกันภัยดำเนินอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มการเสี่ยงวินาศภัยหรือความเสียหายจากอัคคีภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทเป็นหลักฐานการสลักหลังกรมธรรม์ก่อนวินาศภัยหรือความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น มิฉะนั้น สัญญาประกันภัยระงับทันที ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยกระทำผิดเงื่อนไขโดยลงมือประกอบการผลิตยางในโรงงาน ถือได้ว่าเพิ่มการเสี่ยงวินาศภัยมากขึ้น เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทจำเลยชำระเงิน 570,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
ธนาคารโจทก์อุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทอุตสาหกรรมผลิตยางยูนิเวอร์แซล จำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี รวมทั้งหนี้ในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท (สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ)กับธนาคารโจทก์อยู่รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาทเศษ บริษัทได้เอาโฉนดที่ดินที่ 10937 อันเป็นที่ตั้งโรงงานรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจำนองไว้กับธนาคารโจทก์ด้วย ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาจำนอง บริษัทจะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสต๊อกสินค้า และยกประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ธนาคารโจทก์ บริษัทลูกหนี้ธนาคารโจทก์จึงติดต่อกับบริษัทบอร์เนียว จำกัด นายหน้าหาประกันภัยให้บริษัทจำเลยเพื่อประกันภัยสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 5 ล้านบาท บริษัทจำเลยยอมรับประกันภัยสิ่งปลูกสร้างในจำนวนเงินเอาประกันภัย 5 ล้านบาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ BT/69 Firc/1394/BCL ฉบับลงวันที่ 15พฤษภาคม 2512 ตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารชนิดดีที่หนึ่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ สร้างเสร็จไปประมาณ70% หรือ 80% มีระยะเวลาแห่งการประกันภัยจากวันที่ 15 พฤษภาคม2512 ถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2513 เวลา 16.00 นาฬิกา บริษัทผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยประจำปี เป็นเงิน 10,000 บาทต่อจากนั้นบริษัทผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยสินค้าคงคลัง คือวัตถุดิบของยางยานพาหนะเพิ่มอีก 5 ล้านบาท บริษัทจำเลยยอมรับประกันภัยตามบันทึกเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2512 คือเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ฉบับแรก อันดับเลขที่ BT/F/69/1092/BCL ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม2512 จำนวนเงินที่เอาประกันเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาทจำแนกเป็นเอาประกันอาคาร 5 ล้านบาท กับเอาประกันสินค้าคงคลัง5 ล้านบาท มีข้อตกลงว่าอัตราเบี้ยประกันจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นอีกเมื่อการก่อสร้างดีขึ้น เบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ฉบับเพิ่มเติมเป็นเงิน13,539.73 บาท ข้อความและเงื่อนไขอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2512 บริษัทจำเลยทำบันทึกสลักหลังเลขที่ BT/F69/1112/BCL ตามเอกสารหมาย จ.7 รับรองว่าธนาคารโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ดังกล่าวแล้ว และบริษัทจำเลยได้มีหนังสือถึงบริษัทผู้เอาประกันภัยฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2512ตามเอกสารหมาย ล.3 ว่า สิ่งปลูกสร้างจะใช้เป็นโรงงานผลิตยางตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2512 จึงขอคิดอัตราเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น .468%เท่ากับเงิน 18,677.26 บาท ในวันที่ 1 สิงหาคม 2512 บริษัทอุตสาหกรรมฯได้เอาประกันภัยสินค้าวัตถุดิบไว้กับบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัดตามกรมธรรม์เลขที่ 89262 เงินเอาประกัน 5 ล้านบาท มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี เริ่มแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2512 เวลา 16.00 นาฬิกาเป็นต้นไป เบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 24,000 บาท บริษัทผู้เอาประกันภัยได้รับเอกสารหมาย ล.3 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2512 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2512 แล้วได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2512 ตามเอกสารหมาย ล.2 ตอบไปยังบริษัทบอเนียว จำกัด มีใจความว่า ขอส่งคืนกรมธรรม์ฉบับเลขที่ BT/69/F/1394/BCL เนื่องจากทางบริษัทอุตสาหกรรมฯ ได้เอาประกันภัยสินค้าวัตถุดิบไว้กับบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด แล้ว บริษัทอุตสาหกรรมฯ ประสงค์เอาประกันภัยเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตยางซึ่งยังมิได้เอาประกันไว้ เงินเอาประกันเครื่องจักรขอให้เป็นไปตามเดิม ทางบริษัทบอเนียว จำกัด ได้รับหนังสือเอกสารหมาย ล.2 ในวันที่ 11 สิงหาคม 2512 ปรากฏว่าในคืนวันที่ 9สิงหาคม 2512 เวลา 20.40 นาฬิกา ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารเก็บวัตถุดิบและเครื่องกลึง ไหม้เครื่องปรับอากาศ ยางรถยนต์สำเร็จรูปทั้งยางนอกและยางใน วัตถุดิบยาง ยางเทียมไนล่อน ตลอดจนเคมีภัณฑ์จำนวนมาก ธนาคารโจทก์มีหนังสือไปถึงบริษัทจำเลยขอให้ใช้เงินค่าเสียหายจากอัคคีภัยในฐานะผู้รับประโยชน์ บริษัทจำเลยตอบปฏิเสธความรับผิดอ้างว่ากรมธรรม์ถูกยกเลิกไปแล้ว บริษัทไทยประสิทธิประกันภัยจำกัด ยินยอมจ่ายค่าเสียหายจากอัคคีภัยเป็นเงิน 2,150,000 บาทปัญหาโต้แย้งในข้อแรกซึ่งจำต้องวินิจฉัย คือ กรมธรรม์ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ถูกยกเลิกเป็นผลให้สัญญาระงับความคุ้มครองต่อวินาศภัยหรือยัง
ศาลฎีกาเห็นว่าเจตนาของบริษัทจำเลยตามเอกสาร ล.3เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.3 เพราะตามกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวระบุการประกันภัยสำหรับอาคารชนิดดีที่หนึ่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยมีข้อตกลงให้เรียกเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเมื่อการก่อสร้างเสร็จและใช้เป็นโรงงานผลิตยางแสดงว่าบริษัทจำเลยปฏิบัติในเรื่องเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มตามความในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 ทั้งบริษัทผู้เอาประกันภัยยังมิได้ผิดนัดชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่ม เพราะเอกสารหมาย ล.3 มิได้กำหนดระยะเวลาให้ชำระเมื่อใด กรณีนี้หาได้เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า บริษัทผู้เอาประกันภัยเดินเครื่องผลิตยางเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้นโดยละเมิดต่อเงื่อนไข ข้อ 8(ก) แห่งกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.3 ประการใดไม่ และน่าเชื่อด้วยว่าผลการผลิตยางรถอยู่ในขั้นทดลองคุณภาพดังที่จำเลยอ้างมากกว่า จะว่าการเดินเครื่องจักรและใช้วัตถุดิบภายหลังทำสัญญาประกันภัยแล้วเป็นการเสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้นไม่ได้ บริษัทจำเลยยอมเข้าเสี่ยงภัยโดยรู้อยู่แล้ว จะยกข้อนี้ขึ้นมาบอกปัดความผิดไม่ได้
เจตนาแท้จริงของบริษัทอุตสาหกรรมฯ ผู้เอาประกันภัยตามเอกสาร ล.2 มีความหมายเป็นคำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เดิมโดยจะเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบคงคลังซึ่งได้ย้ายไปเอาประกันภัยไว้กับบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ในภายหลังแล้วหาใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาแต่ประการใดไม่ บริษัทบอเนียว จำกัดผู้เป็นนายหน้าของจำเลยก็เข้าใจเจตนาของบริษัทผู้เอาประกันภัยตามความเป็นจริงแล้ว อย่างไรก็ดี การแสดงเจตนาตามคำเสนอเช่นว่านั้นกระทำต่อบริษัทจำเลยซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางย่อมไร้ผล เพราะเกิดอุบัติเหตุจากอัคคีภัยเสียก่อนที่เอกสาร ล.2 จะไปถึงบริษัทจำเลยข้อเสนอของบริษัทผู้เอาประกันภัยเป็นอันตกไปโดยปริยาย ฉะนั้นกรมธรรม์เอกสาร จ.3 และ จ.4 จึงยังมีผลผูกพันบริษัทจำเลยให้คุ้มครองวินาศภัยต่อบริษัทผู้เอาประกันภัยอยู่โดยสมบูรณ์ บริษัทจำเลยจะปฏิเสธความรับผิดต่อธนาคารโจทก์หาได้ไม่
ปัญหาวินิจฉัยในประการต่อไป คือ บริษัทจำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากอัคคีภัยต่อธนาคารโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 กฎหมายสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ทรัพย์สินนั้น ๆ ถูกอัคคีภัยเสียหายไปทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอาประกันภัย เว้นแต่ผู้รับประกันภัยจะพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์สินต่ำกว่าเงินที่เอาประกันภัย จึงจะถือเอาความเสียหายตามที่เป็นจริงซึ่งต่ำกว่าได้
เฉพาะโรงงานที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลยคงถูกเพลิงไหม้ไปเพียงหลังเดียว คือ อาคารเก็บวัตถุดิบและเครื่องกลึง บริษัทผู้เอาประกันตีราคาค่าเสียหายเฉพาะตัวอาคารเป็นเงิน 500,000 บาทเพราะจะต้องรื้อถอนสร้างขึ้นใหม่ บริษัทจำเลยให้การต่อสู้ว่าค่าเสียหายไม่ควรเกิน 100,000 บาท แต่ก็มิได้นำสืบให้เห็นจริงเช่นว่านั้น จึงต้องถือตามการตีราคาของบริษัทผู้เอาประกันภัยว่าตรงกับจำนวนวินาศภัยจริงแล้ว สำหรับเครื่องปรับอากาศทำความเย็นขนาด 5 ตันซึ่งติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารอันเป็นต้นเพลิง บริษัทผู้เอาประกันตีราคาค่าเสียหายมาเป็นเงิน 70,000 บาท เห็นว่าเครื่องทำความเย็น หาใช่ส่วนควบของตัวอาคารไม่ เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น จะถือว่าเครื่องทำความเย็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัยไม่ได้ ดังนั้น ธนาคารโจทก์จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้หาได้ไม่
ส่วนวัตถุดิบคงคลังสำหรับผลิตยางรถซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลย 5 ล้านบาทและเอาประกันภัยไว้กับบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ในภายหลังอีก 5 ล้านบาท จากรายงานการตีราคาของบริษัทบางกอกแอดจัสท์เมนท์ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.4ได้ประเมินค่าเสียหายจากซากวัตถุดิบเท่าที่เหลืออยู่บางส่วนเป็นเงิน2,171,716 บาท แต่บริษัทดังกล่าวตีราคาเพื่อประโยชน์ของบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ฝ่ายเดียว โดยถือว่ากรมธรรม์ของบริษัทจำเลยถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นการตีราคาของคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ย่อมจะตีราคาให้ต่ำกว่าจำนวนวินาศภัยจริงก็ได้ บริษัทจำเลยจะถือเอาประโยชน์จากการตีราคาของบริษัทบางกอกแอดจัสท์เมนท์ จำกัด ไม่ได้ จากพฤติการณ์ที่บริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ออกกรมธรรม์ เลขที่ 89262 เอกสารหมาย จ.16 ให้แก่บริษัทผู้เอาประกันภัยในวันที่ 1 สิงหาคม 2512ซึ่งเริ่มเสี่ยงภัยนับแต่วันที่ 4 เดือนเดียวกันเป็นต้นไป หลังจากวันออกกรมธรรม์เพียง 8 วันวัตถุดิบที่เอาประกันภัยก็ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด แสดงว่าวงเงินประกันภัย 5 ล้านบาทเป็นการตีราคาที่ถูกต้อง จำต้องถือเป็นหลักประเมินค่าเสียหาย อันตรงกับจำนวนวินาศจริงแล้ว ประกอบทั้งบริษัทผู้เอาประกันภัยได้แสดงเจตนาตามเอกสาร ล.2 เพื่อเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบไปยังบริษัทจำเลย มีผลเท่ากับยอมรับว่าวัตถุดิบมีราคาเพียง 5 ล้านบาทอยู่ในตัว ซึ่งบริษัทจำเลยนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายไม่ได้ว่าจำนวนวินาศจริงต่ำกว่าเงินเอาประกันภัยจำนวนดังกล่าว จริงอยู่แม้บริษัทผู้เอาประกันภัยจะยอมสละสิทธิบางส่วนโดยยอมรับค่าเสียหายจากอัคคีภัยจากบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัดเป็นเงิน 2,150,000 บาท หักค่าซากวัตถุดิบออกเสีย 21,716 บาททั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 871 บัญญัติว่าไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ ทั้งบริษัทจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยคนแรก จะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ซึ่งต้องรับผิดมากกว่าผู้รับประกันภัยคนหลัง ตามความในมาตรา 870 วรรคท้าย ฉะนั้น บริษัทจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนวินาศภัยจริงส่วนที่ยังมิได้ใช้ เป็นเงิน 2,828,284 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้บริษัทจำเลยใช้เงินเอาประกันอัคคีภัยแก่ธนาคารโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,328,284 บาท (สามล้านสามแสนสองหมื่นแปดพันสองร้อยแปดสิบสี่บาท) พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2512อันเป็นวันผิดนัด