คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 แม้โจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ศาลปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้
การกระทำของจำเลยตามฟ้องมีโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี จึงเป็นกรณีที่จะต้องถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 เมื่อยังไม่มีการสอบถามจำเลยเรื่องพยาน การพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบ สมควรจัดการให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจเก็บหาไม้ฟืนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีไม้ฟืนปริมาตรา ๕.๙๘ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัยญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑, ๓๕ ฯลฯ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ ๖๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ ๓๐๐ บาท ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ว่า ความผิดของจำเลยเป็นสองกรรม ต้องเรียกกระทรวงลงโทษ และขอให้กำหนดโทษหนักขึ้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓๑ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๕๐๐ บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม ต้องเรียงกระทงลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑ แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓๑ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ แม้โจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ศาลปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องมีโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี จึงเป็นกรณีที่จะต้องถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ เมื่อยังไม่มีการสอบถามจำเลยเรื่องทนาย การพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบ สมควรจัดการให้ถูกต้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่

Share