คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นอยู่ใดในราชอาณาจักร ย่อมเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. แม้จะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลย การทำไม้ยางก็ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น
การแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง ไม่ว่าไม้นั้นจะขึ้นอยู่ในที่ใด ถ้าได้กระทำในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่
พระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับหลังที่ให้ยกเลิกข้อความมาตราใดในพระราชบัญญัติฉบับเดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทนนั้น ไม่ใช่เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการแก้ไขแม้ศาลจะมิได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติฉบับหลัง ที่ให้แก้ไขมาตราดังกล่าว ก็ต้องบัญญัติตามข้อความที่แก้ไขใหม่นั้น
การตัดฟันทำไม้แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองแม้เป็นการกระทำแก่ไม้ต้นเดียวกันแต่เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระจึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน
การที่ศาลเรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี ศาลก็รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ ในความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ฐานตัดฟันทำไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้าม มีไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๔๘, ๖๙, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ, ๗๔ จัตวา ฯลฯ
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ฐานทำไม้ ฐานแปรรูปไม้ และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต กระทงละ ๒ ปี รวม ๓ กระทง เป็นโทษจำคุกคนละ ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้จำเลยคนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก จำเลยคนละ ๓ ปี ของกลางริบ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะไม้ยางนั้น เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในนาของจำเลยที่ ๑ เห็นว่า ไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร ย่อมเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ทั้งสิ้น ตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขโดย พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕ และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ การทำไม้ยางไม่ว่าจะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ใด จึงต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ ส่วนการแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้น ไม่ว่าไม้นั้นจะขึ้นอยู่ในที่ใด ถ้าได้กระทำในเขตควบคุมแปรรูปไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑๖ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อ ๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ , ๑๑, ๔๘, ๗๓ ไม่ชอบ เพราะมาตราดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว และอย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ก็จะยกพระราชบัญญัติป่าไม้ที่แก้ไขใหม่มีโทษหนักว่าเดิมขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขโดย พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๔๘, ๗๓ ซึ่งศาลชั้นต้นยกขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยนั้น แม้จะมีพระราชบัญญัติให้ยกเลิก ข้อความเดิมก็มิได้ยกเลิกไปเลย แต่ให้ใช้ข้อความใหม่แทน วิธีการเช่นนี้เห็นว่า มิใช่เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการแก้ไข กฎหมายมาตรา ดังกล่าวจึงยังใช้บังคับอยู่ตามข้อความที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติที่แก้ไขมาตรา ดังกล่าว ก็ต้องบังคับตามข้อความที่แก้ไขใหม่นั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว หาเป็นการนำกำหมายที่ยกเลิกแล้วมาใช้บังคับไม่ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ยก พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ขึ้นกล่าวในคำพิพากษานั้นเป็นเพียงการยกอัตราโทษขึ้นประกอบการวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษของจำเลยเหมาะสมแล้ว มิใช่เป็นการยกพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นปรับบทลงโทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้ชอบแล้ว
จำเลยฎีกาว่า การตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นการกระทำแก่ไม้ต้นเดียวกัน กระทำต่อเนื่องกัน และเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เห็นว่าแม้จะเป็นดังจำเลยฎีกา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่
ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่เห็นว่าไม้อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดนั้นเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในนาของจำเลยที่ ๑ มิใช่ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่า และมีจำนวนเล็กน้อยเพียงต้นเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า ตามพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีเห็นควรรอการลงโทษจำเลย และคดีสำนวนนี้แม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๓ ปี ก็เป็นการเรียงกระทงลงโทษกระทงละ ๑ ปี รวม ๓ กระทง เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน ๒ ปี ก็ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสี่มีกำหนดคนละ ๒ ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์

Share