คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันมีใจความว่าข้าพเจ้า(จำเลย)ขอทำสัญญาค้ำประกันว. ไว้ต่อบริษัทน. มีข้อความดังต่อไปนี้ข้อ5″ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับคำสั่งให้โยกย้ายไปปฏิบัติงานในบริษัทอื่นซึ่งต่างนิติบุคคลกับบริษัทน. แต่เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มที.ซี.ซี.ไม่ว่าจะตั้งสำนักงานอยู่ณที่ใดก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของบริษัทในเครือของบริษัทกลุ่มที.ซี.ซี.”หมายความว่าจำเลยยอมผูกพันตนชำระหนี้ค่าเสียหายไม่ว่ากรณีใดๆอันเกิดจากการกระทำของว.ในขณะปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างของบริษัทน. หรือบริษัทในกลุ่มที.ซี.ซี. เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าขณะที่ว. ไปก่อให้เกิดความเสียหายนั้นว.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานในบริษัทน.แต่ไปทำหน้าที่ในเครือบริษัทกลุ่มที.ซี.ซี.และโจทก์เป็นบริษัทในเครือกลุ่มที.ซี.ซี.ดังนั้นเมื่อว.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญานี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2533 จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในความเสียหายไม่ว่ากรณีใดก็ตามอันเกิดจากการกระทำของนางสาววาสนา บุญสร้าง ในขณะปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างโจทก์โดยยินยอมชดใช้เสียหายภายในวงเงิน 300,000 บาท ต่อมานางสาววาสนา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นปฐมภรณ์ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2536 ขณะที่นางสาววาสนาหรือปฐมภรณ์ ปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงิน นางสาววาสนาหรือปฐมภรณ์ได้เบียดบังยักยอกเงินที่ได้จากการจำหน่ายสุราไม่นำส่งให้โจทก์และละเมิดรวมเป็นเงิน 321,628 บาท อันเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 310,051 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นสัญญาที่จำเลยทำไว้กับบริษัทอื่นไม่ใช่โจทก์ นางสาววาสนาหรือปฐมภรณ์ไม่เคยยักยอกเงินของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2536จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนางสาววาสนาหรือปฐมภรณ์ บุญสร้างยอมรับผิดภายในวงเงิน 300,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 หรือไม่ ซึ่งตามสัญญามีใจความว่า ข้าพเจ้า (จำเลย)ขอทำสัญญาค้ำประกันนางสาววาสนา บุญสร้าง ไว้ต่อบริษัทนิมิตฉะเชิงเทราจำกัด มีข้อความดังต่อไปนี้ ข้อ 5″ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับคำสั่งให้โยกย้ายไปปฏิบัติงานในบริษัทอื่นซึ่งต่างนิติบุคคลกับบริษัทนิมิตฉะเชิงเทรา จำกัด แต่เป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม ที.ซี.ซี. ไม่ว่าจะตั้งสำนักงานอยู่ ณ ที่ใดก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของบริษัทในเครือของบริษัทกลุ่ม ที.ซี.ซี.” หมายความว่าจำเลยยอมผูกพันตนชำระหนี้ค่าเสียหายไม่ว่ากรณีใด ๆ อันเกิดจากการกระทำของนางสาววาสนา ในขณะปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างของบริษัทนิมิตฉะเชิงเทรา จำกัด หรือบริษัทในกลุ่ม ที.ซี.ซี.เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ขณะที่นางสาววาสนาไปก่อให้เกิดความเสียหายนั้นนางสาววาสนาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานในบริษัทนิมิตฉะเชิงเทรา จำกัด แต่ไปทำหน้าที่ในเครือบริษัทกลุ่มที.ซี.ซี.และโจทก์เป็นบริษัทในเครือกลุ่ม ที.ซี.ซี. ดังนั้นเมื่อนางสาววาสนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญานี้ได้เมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ไป ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น

Share