คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามความใน พระราชบัญญัติจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทยพ.ศ.2491 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดตั้งหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่ปกครองของหน่วยราชการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากองบัญชาการสอบสวนกลางกองตำรวจสันติบาลจะมีอำนาจสอบสวนได้เพียงใดหรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับ ข้อกำหนดหรือข้อบังคับนั้นๆ เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อกฎหมาย โจทก์ต้องนำสืบเมื่อร.ต.ท.ประชานายตำรวจสันติบาลเพียงแต่อ้างว่ามีอำนาจสอบสวน เพราะได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการฯแล้วแต่โจทก์มิได้สืบให้เห็นว่าผู้กำกับการมีอำนาจสั่งได้โดยชอบด้วยกฎหมายอย่างใด ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่าร.ต.ท.ประชามีอำนาจสอบสวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลังสวน จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลหลังสวนเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่บริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ได้ทุจริตยักยอกเงินประเภทต่าง ๆ ของกิจการเทศพาณิชย์การค้าสุกรอันอยู่ในความครอบครองควบคุมดูแลรักษาและรับผิดชอบร่วมกันตามหน้าที่ราชการไปรวมทั้งสิ้น 179,170 บาท 67 สตางค์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131, 319, 63 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3

จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่ามิได้กระทำผิดตามฟ้องและตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องเคลือบคลุม

จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานเทศบาลได้สมคบกันยักยอกเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ ของเทศบาลไปดังฟ้องเป็นความผิดกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 แต่พิพากษายกฟ้อง โดยถือว่ายังมิได้มีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

โจทก์อุทธรณ์

จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์และอ้างว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้ยกฟ้องแล้วการที่ศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องนั้น ไม่ชอบด้วยทางพิจารณา ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดนี้เสีย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ยังมิได้มีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและเห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีและศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว ข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ ตามกฎหมายเป็นอันไม่มีผลต่อไปไม่จำเป็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องพิพากษา ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ นอกนี้ยืน

โจทก์ฎีกาว่า ร.ต.ท.ประชา นายตำรวจสันติบาล สังกัดกองบัญชาการกองสอบสวนกลาง มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องสืบข้อเท็จจริงอย่างอื่นอีก

ศาลฎีกาเห็นว่าอำนาจหน้าที่ของตำรวจเกี่ยวกับการสอบสวนนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจตามความในมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีพระราชกำหนด จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2491 มาตรา 4 จัดกองตำรวจสันติบาลไว้ในราชการบริหารส่วนกลาง และตามมาตรา 5 ว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการตามความในมาตรา 4 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากองบัญชาการสอบสวนกลางกองตำรวจสันติบาลจะมีอำนาจสอบสวนได้เพียงไรหรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยข้อกำหนดหรือข้อบังคับนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องนำสืบ หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะต้องรู้เองไม่

คดีนี้จำเลยที่ 1 คัดค้านว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องแสดงว่า ร.ต.ท.ประชา ตำรวจสันติบาลมีอำนาจสอบสวนในคดีนี้โดยชอบแล้ว เพียงแต่โจทก์อ้างว่าผู้กำกับการกอง 3 กองสอบสวนกลางได้สั่งแล้ว และโจทก์มิได้สืบอ้างหลักฐานอย่างใดให้เห็นว่าผู้กำกับการฯมีอำนาจสั่งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงฟังไม่ได้ว่า ร.ต.ท.ประชามีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

จึงพิพากษายืน

Share