คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ ส. ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วนโจทก์ร่วมและร. ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส สาเหตุเนื่องจากบาดแผลซึ่งเกิดจากรถชนกันไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยหลบหนีโดยไม่ทำการช่วยเหลือหรือไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรก แม้จำเลยจะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถที่ ส.ขับทำให้ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมกับพวกได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย แต่ปรากฏตามฟ้องว่าผู้ตายเป็นฝ่ายขับรถโดยความประมาทด้วย และสาเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นเพราะผู้ตายกลับรถกลางถนนในเขตชุมนุมชน ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มากกรณีมีเหตุอันควรปรานี รอการลงโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300, 390, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 78, 157, 160 เพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของจำเลยด้วยจำเลยให้การปฏิเสธ ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายไพศาลสุทธิวานิชยกุล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157กระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 3 เดือนและปรับ 3,000 บาท รวมเป็นโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน ปรับ 8,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่า นายสุวิสิทธิ์ผู้ตายขับรถยนต์ด้วยความประมาทมากกว่าจำเลยสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของจำเลย โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานหลบหนีนั้น จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 ไม่ลงโทษปรับจำเลย และไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง หรือไม่เห็นว่า มาตรา 160 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษ…” นั้น หมายถึงกรณีที่ผู้ขับรถละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แล้ว มีผลทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า นายสุวิสิทธิ์ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วนโจทก์ร่วมและนางสาวรังสิมาผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส สาเหตุเนื่องจากบาดแผลซึ่งเกิดจากรถชนกัน ไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยหลบหนีโดยไม่ทำการช่วยเหลือหรือไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรก
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่ามีเหตุอันควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยจะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถซึ่งจำเลยขับชนกับรถซึ่งนายสุวิสิทธิ์ขับ ทำให้นายสุวิสิทธิ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมกับพวกได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย แต่ปรากฏตามฟ้องว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายขับรถโดยความประมาทด้วยและข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นเพราะผู้ตายกลับรถกลางถนนในเขตชุมนุมชน ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มาก กรณีมีเหตุอันควรปรานี รอการลงโทษให้แก่จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานหลบหนีนั้น จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคแรกวางโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาทรวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 1 เดือน และปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share