แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บุตรของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่มีอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งต่างก็ ทราบเรื่องเกี่ยวกับมรดกของผู้ตายดีว่ามีทรัพย์อะไรบ้าง การแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิ์ รับมรดกของผู้ตายด้วยกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันนั้น ย่อมมีความเป็นธรรมดีกว่าที่จะแต่งตั้งให้คนหนึ่งคนใดจัดการมรดกไปเพียงลำพังคนเดียว.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายมล วงษ์วารี และนางแดง วงษ์วารี ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 6 คน ผู้ร้องเป็นบุตรคนที่ 4นางแดงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จึงขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงมีที่ดิน 4 แปลงและทรัพย์สินอย่างอื่นอีก
นางสาวชม้อย วงษ์วารี และนายไพฑูรย์ วงษ์วารี ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโดยไม่บอกกล่าวหรือปรึกษาทายาทอื่นแสดงถึงเจตนาไม่สุจริต หากผู้ร้องได้เป็นผู้จัดการมรดกจะเกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาทขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร และผู้คัดค้านที่ 2ซึ่งเป็นหลานของเจ้ามรดก เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1นำสืบรับกันฟังได้ว่า นายมล นางแดง วงษ์วารี มีบุตรด้วยกัน 6 คนแต่ปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ 2 คน คือ ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 นางแดงถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีที่ดินเป็นทรัพย์มรดก ทายาทโดยธรรมของนางแดงผู้ตายมีอยู่หลายคน การแบ่งมรดกยังมีข้อขัดข้องผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้มีสติบริบูรณ์ไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ศาลล่างทั้งสองแต่งตั้งให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงร่วมกัน มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า สมควรแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ร่วมกันผู้ร้องด้วยหรือไม่ เห็นว่า บุตรของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งต่ายก็ทราบเรื่องเกี่ยวกับมรดกของผู้ตายดีว่ามีทรัพย์อะไรบ้าง การแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันนั้น ย่อมมีความเป็นธรรมดีกว่าที่จะแต่งตั้งให้คนหนึ่งคนใดจัดการมรดกไปเพียงลำพังคนเดียว ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของกองมรดกให้การจัดแบ่งมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องตามสิทธิตามส่วนด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด ส่วนฎีกาของผู้ร้องที่ว่าหากให้ผู้คัดค้านที่ 1ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วยแล้วจะทำให้การจัดแบ่งปันมรดกเป็นไปด้วยความไม่สะดวก เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 คอยขัดขวางนั้น ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.