คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าหน้าที่ของธนาคารผู้เสียหายได้นำเงินฝากจำนวน 60,000 บาท ของลูกค้ารายอื่นเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยผิดพลาดและจำเลยรู้แล้ว การที่จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินดังกล่าวออกไปจากบัญชีของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นไปโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางศศิธร วีรดิษฐกิจ เจ้าหน้าที่รับฝากเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้เสียหายนำเงินจำนวน60,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย โดยสำคัญผิดว่าเป็นบัญชีเงินฝากของนายประสิทธิ์ มณฑารพ ต่อมาหลังจากจำเลยครอบครองเงินจำนวนดังกล่าวแล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายจากบัญชีของจำเลยไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้คืนเงินจำนวน60,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง จำคุก 2 เดือนและปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 60,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านายประสิทธิ์ มณฑารพ ลูกค้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาพุนพิน ผู้เสียหายได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับผู้เสียหาย บัญชีเลขที่ 066-0-00414-0 จำเลยเป็นลูกค้าของผู้เสียหายเช่นกัน โดยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 066-0-00644-1 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535นางศศิธร วีรดิษฐกิจ เจ้าหน้าที่การเงินของผู้เสียหายได้นำเงินฝากของนายประสิทธิ์ ซึ่งฝากเข้าบัญชีเลขที่066-0-00414-0 ของนายประสิทธิ์ไปเข้าบัญชีเลขที่066-0-00644-1 ของจำเลยโดยผิดพลาดไปทำให้เงินในบัญชีของจำเลยซึ่งเดิมมีอยู่เพียง 16,222.50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น76,222.50 บาทต่อมาระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 พฤศจิกายน 2535จำเลยออกเช็ค 5 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวมเป็นเงิน 74,000 บาทเบิกเงินจากบัญชีของจำเลยและผู้เสียหายได้จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ แล้วมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง ดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายได้นำเงินจำนวน 60,000 บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาดเงินจำนวนนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะถอนจากบัญชี ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางศศิธรพยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยมีวงเงินเบิกเกินบัญชีกับผู้เสียหายจำนวน300,000 บาท ต่อมาจำเลยขอยกเลิกวงเงินเบิกเกินบัญชีที่ตกลงไว้กับผู้เสียหาย และผู้เสียหายมีหนังสือลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 แจ้งยกเลิกวงเงินเบิกเกินบัญชีให้จำเลยทราบ ตามเอกสารหมาย จ.6 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีเพียง 12,964.87 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชี แต่ก็มีจำนวนไม่กี่ครั้งและมีจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย ทั้งจำเลยก็เบิกความรับว่า ผู้เสียหายได้แจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทราบเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้งประกอบกับจำเลยประกอบกิจการค้าเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ในอำเภอพุนพิน เห็นได้ว่าเป็นกิจการเล็ก ๆมีเงินทุนหมุนเวียนเข้าออกบัญชีเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยจำเลยจึงสามารถตรวจสอบและรู้ถึงการนำเงินเข้าออกบัญชีได้โดยง่าย ที่จำเลยอ้างว่าไม่รู้ว่ามีการนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาด จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยรู้ว่ามีการนำเงินของบุคคลอื่นมาเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาด การที่จำเลยออกเช็ครวม 5 ฉบับ ระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 พฤศจิกายน 2535รวมเป็นเงิน 74,000 บาท สั่งจ่ายเงินจากบัญชีของจำเลยโดยรู้อยู่แล้วว่าเงินในบัญชีจำนวน 60,000 บาท มีการนำมาเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาด เมื่อผู้เสียหายได้จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับไปโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิถอนเงินดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นโดยทุจริตจำเลยจึงมีความผิดบานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share