คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้ทำคำเตือนถึงโจทก์ เพราะเห็นว่าโจทก์ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างคำเตือนนี้มิใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดอันมีผลทางกฎหมาย แม้จะกำหนดให้โจทก์ชำระเงินแก่ลูกจ้างโจทก์หาจำต้องปฏิบัติตามไม่คำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใดและไม่ใช่กรณีที่โจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้เพิกถอนคำเตือนของจำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุจำเลยที่ 2 พนักงานตรวจแรงงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 77 ออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้าง ดังปรากฏตามสำเนาคำเตือนท้ายฟ้อง โจทก์เห็นว่าเงินประเภทดังกล่าว โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้วไม่ต้องจ่ายซ้ำตามคำเตือนของจำเลยที่ 2 จึงขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและคำเตือนข้อ 2 ของจำเลย ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยได้แถลงต่อสู้คดีโจทก์ไว้ว่า คำเตือนของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถึงหากในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจะมิได้ทำคำแก้อุทธรณ์มา แต่ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้ทำคำเตือนเอกสารท้ายฟ้องถึงโจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 77 นั้น ก็เพราะจำเลยที่ 2 มีความเห็นว่า โจทก์ฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวที่ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้าง คำเตือนนี้มิใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดอันมีผลทางกฎหมาย หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มิได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวและโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้าง แม้ในคำเตือนของจำเลยที่ 2 จะมีข้อความกำหนดให้โจทก์นำเงินค่าทำงานในวันหยุดไปชำระแก่ลูกจ้างตามวันเวลาและสถานที่ดังปรากฏ โจทก์ก็หาจำต้องปฏิบัติตามไม่ ดังนี้เห็นได้ว่า สิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายมิได้รับความกระทบกระเทือนเพราะคำเตือนของจำเลยที่ 2 ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 ออกคำเตือนตามสำเนาท้ายฟ้อง จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด และไม่ใช่กรณีที่โจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้เพิกถอนคำเตือนของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง”

พิพากษายืน

Share