คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, 393, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา พันตำรวจโทบัญชา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, 393 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ คงจำคุก 15 วัน และปรับ 500 บาท ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า คงปรับ 500 บาท รวมจำคุก 15 วัน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยผิดระเบียบ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายต่างมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการ มิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องไว้แล้วและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน ส่วนการรวมพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 นั้น ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันก็ต่อเมื่อความปรากฏต่อศาลก่อนมีคำพิพากษา แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้รู้ว่ามีเหตุที่จะรวมพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 ของศาลชั้นต้น ทั้งโจทก์ร่วมเองก็มิได้ยื่นคำร้องขอเช่นว่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบแล้ว พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและฟังยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกรวม 3 คน ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 138, 139, 140, 296, 309, 310 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันเป็นคดีนี้ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติในเรื่องฟ้องซ้อนว่านับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 ต่อศาลชั้นต้นก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้วและบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญา หมายเลขดำที่ 2845/2551 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อนเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2845/2551 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้ จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อวินิจฉัยได้ดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ร่วมอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์

Share